กรมการแพทย์ 30ส.ค.-แพทย์หวั่นประชาชนติดเชื้อในลำไส้เฉียบพลันจากการท้องเสียเรื้อรัง เตือนบริโภคอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และใส่ใจสุขภาพ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หมายถึง การติดเชื้อของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจากแบคทีเรีย รองลงมาคือเชื้อไวรัสและปรสิต โดยมีอาการหลักคือ การปวดท้องที่อาจเกิดได้ที่ช่องท้อง ไม่มีอาการปวดเฉพาะจุด ร่วมกับอาการท้องเสีย มีไข้ได้ โดยลักษณะอาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันที เรียกว่า การติดเชื้อเฉียบพลัน
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อทางเดินอาหารเป็นโรคที่พบได้บ่อยทุกวัน เกือบทุกคนเคยผ่านการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารมาแล้ว เช่น อาหารเป็นพิษ ติดต่อได้ง่าย ระบาดได้ง่าย ในชุมชนต่างๆ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการรับเชื้อ เช่นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ การรับเชื้อมักเกิดจากการบริโภคอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยเชื้อโรคที่อยู่ในตัวผู้ป่วยปนเปื้อนอยู่ในน้ำ อาหาร และมือ เข้าสู่ปาก โดยเชื้ออาจติดอยู่ที่เครื่องมือเครื่องใช้ในการอุปโภค บริโภค เช่น ช้อน แก้วน้ำ จาน ชาม
ดังนั้นการป้องกัน โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญและการมีอาการของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ต้องดูแลประคับประคอง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำ การขาดสมดุลของเกลือแร่ โดยการดื่มน้ำสะอาด การใช้ยาผงเกลือแร่ และการรักษาตามสาเหตุ เช่นการติดเชื้อบางชนิดที่อาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ รวมถึงการดูแลตัวเอง ป้องกันการรับเชื้อซ้ำ และป้องกันการระบาดสู่ชุมชน.-สำนักข่าวไทย