กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – สุริยะ เผยความร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรมกับ 21 จังหวัดญี่ปุ่น ดึงการลงทุนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นแล้ว 70,000 ล้านบาท เตรียมพบนายกกัมพูชาช่วยให้การค้าชายแดนราบรื่นให้กับนักลงทุน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) จัดงานฉลองโต๊ะญี่ปุ่นหรือ Japan Desk ครบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2552 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเปิดงานว่า ความร่วมมือผ่าน Japan Desk ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างกระแสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยและร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ล่าสุด พบว่า การลงทุนจากจังหวัดที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมรวม 21 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากที่มีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว อีก 500 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท การลงทุนนี้ มีทั้งการลงทุนโดยตรงหรือ FDI และการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยหรือรูปแบบ Joint Venture การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นยัง นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้นด้วย
ข้อมูลล่าสุดจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับ 1 ของจำนวนโครงการ สำหรับการลงทุนต่างชาติทั้งหมด และประเทศญี่ปุ่นยังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย ซึ่งมีมูลค่าการค้ากว่า 1.94 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย จำนวนกว่า 6,000 กิจการ ทั้งนี้ Japan Desk จะเป็นกลไกที่สำคัญในการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ในลักษณะ Win-Win ระหว่างทั้งสองประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป
ส่วนเรื่องค่าแรงที่เป็นต้นทุนสำคัญที่นักลงทุนพิจารณาการจะเข้ามาลงทุนนั้น ขอยืนยันว่า การจะขึ้นค่าแรงในประเทศไทย ต้องดำเนินการผ่านระบบไตรภาคีเท่านั้น การขึ้นค่าแรงในช่วงหาเสียงของนักการเมืองมาถึงขณะนี้ จะต้องยอมรับความเป็นจริงในเรื่องนี้ สำหรับสงครามการค้า เชื่อว่าจะส่งผลให้นักลงทุนจะมุ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น จึงขอชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนเพิ่มในช่วงนี้ และในวันศุกร์ที่ 31 ส.ค.นี้ นายสุริยะจะเดินทางไปดูสภาพความพร้อมและเงื่อนไขการลงทุนที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้นและนำมาปรับการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยต่อไป จากนั้นจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยที่จะดียิ่งขึ้นนั้น หากจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายก็จะดำเนินการ ส่วนการค้าชายแดนที่มีอุปสรรคจะเดินหน้าแก้ไข โดยประเทศแรกทีาจะเดินทางไปเจรจาคือ กัมพูชา โดยจะไปเจรจากับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเพื่อให้การค้าชายแดนราบรื่นช่วยลดต้นทุนให้กับนักลงทุนต่อไป
นายอสึชิ โทโยนากะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การสนับสนุนเอสเอ็มอีแห่งประเทศญี่ปุ่น (Organization for SME and Regional Innovation of Japan – SMRJ) กล่าวชื่นชมความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นผ่าน Japan Desk ว่า Japan Desk ทำงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นและเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น 1.4 เท่า โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนสำคัญอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นเกือบ 100 % ได้เข้ามาลงทุนหยั่งรากลึกในประเทศไทยแล้ว และเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา กสอ. ได้ร่วมมือกับทางญี่ปุ่นจัดตั้ง Japan desk เพื่อชักจูงการลงทุนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในเรื่อง Digital Transformation หรือ DX ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้ที่ได้พบและหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทยได้เคยกล่าวไว้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Japan Desk เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization : JETRO) จัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น หรือ Japan Desk ขึ้น และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 และมีการพัฒนา ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และหน่วยงานเอกชนญี่ปุ่น รวมจำนวน 29 แห่ง รวมลงนาม 32 ฉบับ โดย Japan Desk ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการสร้างสัมพันธ์ ประสานงานการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น เกิดเป็นโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้แก่ ด้านการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ 4.0 ภายใต้โครงการ Connected Industries โครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation System Integrators: LASI Project) การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย หรือ MIE-Thailand innovation Center เป็นต้น
ด้านการพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรของประเทศญี่ปุ่น การจัดทำโครงการ Re-Skill เพิ่มพูนทักษะการทำงานในด้านการพัฒนา SMEs ทุกมิติ ด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ โดยการการจัดงาน Business Networking การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การประชุมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในลักษณะ “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” หรือ OTAGAI Forum ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นที่มีความร่วมมือจำนวน 21 แห่ง
การสร้างโอกาสทางการตลาด การจัดงาน Business Matching การพาผู้ประกอบการไปออกงานแสดงสินค้า ที่ได้รับการสนับสนุนพื้นที่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อาทิ งานแสดงสินค้านวัตกรรมขององค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) รวมถึงงานแสดงสินค้าของรัฐบาลจังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดไซตามะ จังหวัดนากาโนะ และกรุงโตเกียว เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย