กรุงเทพฯ 27 ส.ค. – พิษสงครามการค้าทำส่งออกลด สศอ.ปรับลดคาดการณ์ MPI และ GDP อุตฯ ปี 62 เหลือ 0-1% จากเดิม 1.5-2.5% ส่วน MPI เดือน ก.ค.ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 100.07 หดตัว 3.23% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้การส่งออกสินค้าไทยลดลงเช่นเดียวกับหลายประเทศ ทาง สศอ.จึงปรับคาดการณ์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และ GDP อุตฯ ปี 2562 ลง จากเดิมคาดว่าจะโต 1.5-2.5% เหลือเพียง 0-1% จากสงครามการค้ากระทบการส่งออกของไทยตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกติดลบทุกสินค้า ยกเว้นการส่งออกสินค้าไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่ม CLMV ที่ยังคงเป็นบวก 6-7% หลายสินค้า
อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 316,000 ล้านบาท หากออกมาเต็มประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ สศอ.ยังมีโอกาสมากกว่า 50% ปรับประมาณการขยายตัวของ MPI และ GDP ปี 2562 ดีขึ้นอีกครั้งไตรมาส 3 ปีนี้ แต่จะให้กลับมาใช้เป้าเดิมคงเป็นไปได้ยาก เพราะ 6 เดือนแรกสงครามการค้ากระทบภาคการผลิตมาก ส่วนภัยแล้งกระทบภาคการเกษตรบางส่วนเท่านั้น
สำหรับดัชนี MPI เดือนกรกฎาคม 2562 ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 100.07 ลดลง 0.70 หดตัว 3.23% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.68% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ซึ่งปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 65.26% ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองทรงตัว โดยขยายตัว 0.004% ขณะที่การผลิตรถยนต์ลดลง 6.7% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากยอดขายทั้งในประเทศและยอดส่งออกหดตัวลง 1.1% และ 8.9% และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เดือนกรกฎาคม 2562 ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีเดือนนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องยนต์ โดยการผลิตลดลง 6.7% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากยอดขายทั้งในประเทศและยอดส่งออกหดตัวลง 1.1% และ 8.9% ตามลำดับ น้ำมันปิโตรเลียม เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยางและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สาเหตุหลักผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลง ยกเว้นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีการซ่อมบำรุงโรงกลั่นส่วนอุตสาหกรรมที่การผลิตยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ การกลั่นและการผสมสุรา ขยายตัวเพิ่ม 72.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการทำการตลาดโดยปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีการตอบรับที่ดี ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
รองลงมา คือ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากตลาดในประเทศที่มีความต้องการสินค้าต่อเนื่อง รวมถึงตลาดส่งออกแต่รับคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและส่งออกตามปริมาณผลปาล์มที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลบี 20 เพื่อลดสตอกน้ำมันปาล์มและดึงราคาปาล์มให้สูงขึ้น เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้โดยเร่งผลิตและส่งมอบตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นน้ำแร่ เนื่องจากผู้ประกอบการขยายตลาดทุกช่องทางจัดจำหน่ายรวมถึงการปรับขนาดบรรจุผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย