กรุงเทพฯ 29 มิ.ย.-สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ค.63 ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ เม.ย. แต่ยังติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงรุนแรง ภาคอุตสาหกรรมยังไม่มั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจเต็มร้อย การขายส่วนหนึ่งยังมาจากสตอกสินค้า ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2563 เทียบกับเดือนเมษายน 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 2.86 โดยอยู่ระดับ 80.31 จากที่เดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 78.08 จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ ส่งผลให้บางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อการบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร แต่ไม่รวมน้ำตาล ปุ๋ยเคมีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 24.89 เพราะบางรายเน้นรับจ้างผลิตมากขึ้น เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 10.07
อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2563 ยังหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 23.19 จากผลกระทบโควิด-19 ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.- พ.ค.) ติดลบร้อยละ 11.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตของผู้ประกอบการเดือนพฤษภาคม 2563 ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือน เมษายน 2563 โดยอยู่ที่ระดับ 52.84 ดีขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระดับ 51.27 หรือดีขึ้นร้อยละ 1.57 แต่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพฤษภาคม 2563 ยังคงต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีผ่านมา และยังคงติดลบที่ร้อยละ 14.54 เพราะช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยมีระดับการใช้กำลังการผลิตสูงถึงร้อยละ 67.38
ทั้งนี้ สศอ.คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563 ที่จะแถลงในเดือนกรกฎาคม 2563 จะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการคลายล็อคดาวน์หลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของไทยก็จะดีขึ้นจากการได้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากมาตรการเงินเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมากแล้ว
นายอิทธิชัย ระบุว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังผลกระทบจากโควิด-19 และแผนฟื้นฟูที่มีอยู่แล้วถูกจุดหรือไม่ เพราะจะต้องรอการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่จะนำเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะอยู่บนพื้นฐานของแผนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันเตรียมการไว้ เพราะการไปเริ่มต้นใหม่ใช้เวลานานในการจัดทำ แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดขณะนี้ คือ ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะธนาคารเข้มงวดการพิจารณาสินเชื่อมาก ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนจากนี้สำคัญมาก สำหรับการใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วางแผนพิจารณาโครงการขอใช้เงิน 3 ชุด คือ เดือนกรกฎาค สิงหาคม และกันยายนนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว.-สำนักข่าวไทย