ธปท. 11 ส.ค. – นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น เพราะการใช้จ่ายของภาครัฐน่าจะมีการขับเคลื่อนการลงทุนเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ประกอบกับมีมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ขณะเดียวกันยอมรับว่าการที่สภาพเศรษฐกิจขยายตัวต่ำโตร้อยละ 3 ต่อเนื่องมา 1-2 ปี มีผลให้เอสเอ็มอีฟื้นตัวไม่ง่ายและมีแนวโน้มที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 หรืออาจจะเป็นช่วงพีคสุดของเอ็นพีแอล
ทั้งนี้ ไตรมาส 2 ยอด NPL คงค้างอยู่ที่ 373,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 16,300 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.72 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.64
นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่กลับมาเป็นหนี้เสียใหม่ (Re -Entry) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสินเชื่อภาคธุรกิจและอุปโภคบริโภค โดยสินเชื่อธุรกิจมีอัตราการอนุมัติต่ำลงจากร้อยละ 72 ไตรมาสแรก เหลือร้อยละ 69 สินเชื่ออุปโภคบริโภค อัตราอนุมัติจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 53 ซึ่ง ธปท.ยังต้องจับตาปัญหาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่ยังหวังว่าสภาพเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวไตรมาส 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่น ทำให้หนี้ NPL ก็มีโอกาสปรับลดลงได้บ้าง
ทั้งนี้ ฐานะของระบบธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่งกันสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 24,200 ล้านบาท เป็น 492,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 161.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 160 ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไร 97,600 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน .-สำนักข่าวไทย