กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – รัฐมนตรีพลังงานไม่ขัดโออาร์กระจายหุ้นต้นปีหน้า พร้อมสั่ง 3 หน่วยงานหลักเร่งหาทางออกการนำเข้าแอลเอ็นจี กฟผ.
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้เร่งวางแนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) 1.5 ล้านตัน/ปี ไม่ให้เกิดปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าจากสัญญาก๊าซฯ เดิมมีสัญญาที่มีสัญญาซื้อขายระหว่าง กฟผ.และ บมจ.ปตท.แล้ว หากใช้ไม่หมดก็จะต้องจ่ายตามสัญญาเทคออร์เพย์ โดยมอบให้ กฟผ. ปตท.และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หารือร่วมกันด่วน โดยให้มองว่าร่วมมือกันอย่างไร ให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยต้องเร่งสรุปเพราะตามแผนงานเดิม กฟผ.ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี ล็อตแรกภายในปีนี้ และได้ประกาศเปิดประมูลจนได้รายชื่อผู้ชนะประมูลไปแล้ว ขณะที่ ปตท.รายงานว่าหากไม่มีปัญหาเทคออร์เพย์ ทาง กฟผ.ต้องนำเข้าหลังปี 2565เป็นต้นไป
“อยากให้ดูร่วมกันบนหลักการของประเทศว่าจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร โดยเฉพาะนำเข้ามาแล้วให้เกิดการใช้บนหลักการของอาเซียน เราจะเป็นผู้นำในภูมิภาคอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือต่างคนต่างคิด ดังนั้น ทุกฝ่ายควรจะถอยความเป็นองค์กรลงทั้งในส่วนของ กฟผ.และ ปตท. และนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซธรรมชาติของปตท. (Third Party Access: TPA) เพราะหากแบ่งแยกเป็นส่วน ๆ แยกหน่วยงาน โครงการก็คงจะเกิดล่าช้า ซึ่งคงจะได้ข้อสรุปสัปดาห์นี้” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ส่วนการกระจายหุ้น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีกหริอโออาร์นั้น ทางผู้บริหาร ปตท.ได้เข้ามารายงานว่าเตรียมแผนกระจายหุ้นต้นปีหน้า ซึ่งตนเองไม่ขัดขวาง แต่ขอให้ตอบโจทย์สังคมให้ได้ว่าระดมทุนต้องไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ปตท.เท่านั้น ต้องทำหน้าที่เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน โออาร์ต้องโตในต่างประเทศและพาเอสเอ็มอีไทยขยายตลาดได้ด้วย การขยายธุรกิจต่างประเทศนับเป็นหัวใจสำคัญของโออาร์ที่จะต้องไปโตต่างประเทศอย่างเข้มแข็ง ซึ่งขณะนี้เริ่มออกไปลงทุนแล้ว เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ และยังมีแผนจะไปจีน อินเดีย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจถ้ากิจการที่บริหารงานโดยคนไทยจะเข้มแข็งในระดับเอเชียและขยายธุรกิจไปสู่ความเป็นผู้นำในต่างประเทศ ขณะที่ปั๊มในประเทศต้องเป็นพื้นที่ในช่วยเหลือขุมชนและเกษตรกร ซึ่งขณะนี้เริ่มแล้วหลายโครงการเช่น “ไทยเด็ด” เป็นต้น
“ปตท.เป็นโครงสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การเข้าตลาดของโออาร์ก็จะต้องทำหน้าที่นี้ต่อ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อใช้ความเข้มแข็งมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งเป็นปั๊มเพื่อชุมชน ทำเรื่องปุ๋ยสั่งตัด และต้องโตต่างประเทศให้ได้ ไม่ใช่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นประโยชน์เฉพาะ ปตท.เท่านั้น” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ แม้จะขยายตัวก็ไม่สูงมากนัก ซึ่งคงมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานทดแทน โซลาร์รูฟท็อป ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปัญหาโรงงานส่งออกต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งส่งผลให้การใช้ก๊าซไม่ได้เติบโตเช่นในอดีต และหากดูข้อมูลแล้วหากไม่ให้เกิดปัญหาเทคออร์เพย์ การนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ.ก็น่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงฯ ให้โจทย์เรื่องความร่วมมือเพื่ออาเซียน ก็คงจะต้องรอดูผลการประชุมร่วมของ 3 ฝ่ายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศเฉลี่ยเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 4,872 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขยายตัวร้อยละ 2-3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แยกเป็นก๊าซฯ จากอ่าวไทยร้อยละ 66 แหล่งเมียนมาร้อยละ 16 การนำเข้าแอลเอ็นจีร้อยละ 6 จากแหล่งบนบกและอื่น ๆ ร้อยละ 2 ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2,890 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขยายตัวร้อยละ 6-7 เนื่องจากโครงการพลังงานไฟฟ้าไซยะบุรีและเซเปียนเซน้ำน้อย สปป.ลาว เข้าระบบล่าช้ากว่าแผนงาน ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะมีปัญหาบางช่วง ทำให้ กฟผ.สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯทดแทน. – สำนักข่าวไทย