สงขลา 12 ส.ค.-คนงานลงไปซ่อมท่อระบายน้ำโรงงานส่งออกน้ำยาง จ.สงขลา สูดก๊าซไข่เน่าเข้าไปจนขาดอากาศหายใจหมดสติ เสียชีวิต 4 ราย
เกิดเหตุคนงานลงไปซ่อมท่อระบายน้ำในท่อระบายอากาศระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างภายในบริษัท ทัทวิน จำกัด เลขที่ 574/1 หมู่ 5 ตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโรงงานส่งออกน้ำยางข้นต่างประเทศ หลังได้รับแจ้งเหตุตำรวจสภ.คลองแงะ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบคนงานหมดสติอยู่ในท่อระบายอากาศลึกประมาณ 2 เมตร กว้าง 1.5 เมตร จำนวน 4 คน และอยู่สภาพสภาพท่านั่ง เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยและเพื่อนคนงานเร่งไปช่วยนำร่างขึ้นมาทีละคน และเร่งปั๊มหัวใจ ช่วยชีวิตเนื่องจากทุกคนหมดสติไม่รู้สึกตัว และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 2 คน โรงพยาบาลสะเดา 1 คน และโรงพยาบาลปาดังเบซาร์1 คน และทราบจากญาติว่าทั้ง4 คน เสียชีวิตแล้ว
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง4 คนประกอบด้วย นายสุวิทย์ โจมชู อายุ 31 ปี นายสาธิชล ลิ้มแจ้ง อายุ 31 นายสมคิด ดำเกลี้ยง อายุ 43 ปี ทั้งสามคนเป็นคนงานและเป็นญาติพี่น้องกัน และนายสานิต สังชุม อายุประมาณ 40 ปี ซึ่งเป็นผู้รับเหมา
สอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าขณะเกิดเหตุมีคนงานทั้ง 4 คน ได้ลงไปซ่อมท่อระบายน้ำซึ่งอยู่ลึกลงไปในท่อระบายอากาศของบ่อบำบัดน้ำเสียที่กำลังก่อสร้าง และหมดสติทีละคน และกว่าที่จะมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปช่วยเหลือได้กินเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง
นายนิรันดร์ ศรีสุวรรณ อายุ 46 ปี ซึ่งรอดชีวิต บอกว่าตอนที่มาถึงทราบว่าทั้ง 4 คน ได้ลงไปในท่อและและเงียบหายไป จึงพยายามเรียกแต่ไม่มีเสียงตอบ และเมื่อไปดูก็พบทั้ง 4 คน หมดสติอยู่ในท่อ จึงลงไปช่วยพบว่าข้างล่างมีอากาศอยู่ประมาณครึ่งบ่อ ตนเกือบหมดสติเช่นกัน แต่พยายามแข็งใจอุ้มร่างนายสานิตขึ้นมาได้1คน แต่กว่าจะมีคนไปช่วยก็ใช้เวลานาน และจากการตรวจสอบสาเหตุในเบื้องต้นพบว่าภายในท่อมีก๊าซแอมโมเนีย หรือก๊าซไข่เน่า อยู่ในท่อจำนวนมากซึ่งต่อมาจากระบบบำบัดน้ำเสียที่กำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซม เมื่อสูดอากาศเข้าไปเพียงครั้งเดียวก็ทำให้หมดสติได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าตรวจสอบอย่างละเอียด
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า จัดอยู่ในกลุ่มก๊าซพิษรุนแรง หากสูดดมในปริมาณความเข้มข้นสูง 1,000 ppm (การวัดค่ามลพิษทางอากาศ) จะเสียชีวิตภายใน 2-3 วินาที เนื่องจากหลังการสูดดมก๊าซตัวนี้จะบล็อกออกซิเจน ทำให้สมองขาดอากาศเข้าไป ทำให้หมดสติและเสียชีวิต ทั้งนี้ก๊าซไข่เน่าเกิดจากการย่อยสลายจุลินทรีย์ในน้ำเสีย ขยะจากเศษอาหาร หรือจากสิ่งมีชีวิตที่มีโปรตีนสูงถูกย่อยสลาย ซึ่งมักพบก๊าซไข่เน่าจากบ่อปฏิกูล บ่อหมักก๊าซใต้ท้องเรือประมง และบ่อขยะ.-สำนักข่าวไทย