กรุงเทพฯ 12 ส.ค.- ปตท.ย้ำเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 8 พันเมกะวัตต์ ทั้งในและต่างประเทศ
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บมจ.ปตท. กล่าวว่า แผนงานของ ปตท. เดินหน้าในการพัฒนานวัตกรรมและ ร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 15 ภายในปี 2563 และร้อยละ 25 ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งจะดำเนินการทั้งกลุ่ม โดย 1 ในแผนงานหลัก คือ การลงทุนด้านพลังงานทดแทน 8 พันเมกะวัตต์ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ทางบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (จีพีเอสซี) ในฐานะแกนนำธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท.จะเป็นแกนนำในการดำเนินการเพื่อลงทุน ซึ่งจะครอบคลุมพลังงานทดแทนทุกด้าน รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนจะเป็นอัตราส่วนของแต่ละประเภทเท่าใด นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาต่อไป
“การดำเนินการตาม COP21 เป็นเรื่องสำคัญ และในฐานะ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจพลังงาน โดยแม้ธุรกิจหลักจะเป็นเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เป็นภาระหน้าที่ ที่เราต้องร่วมมือกันลดภาวะโลกร้อน การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็จะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เราก้าวถึงเป้าหมายได้รวดเร็ว” นายวิทวัสกล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ถ้อยแถลงเจตจำนงในการประชุม Conference of the Parties: COP 21 ณ กรุงปารีส ในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมุ่งมั่นของประเทศ (Intended Nationally Determined Contributions: INDCs) ในทุกภาคส่วนร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 และการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศไทย (Thailand Nationally Appropriate Mitigation Action: Thailand NAMAs) ในภาคพลังงานและการขนส่งให้ได้ร้อยละ 7-20 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2563
ปตท. ได้ตอบสนองต่อเป้าหมายของประเทศดังกล่าว โดยผลักดันการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารความร่วมมือการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนกลุ่ม ปตท. ทั้งการมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว ผ่านการวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในกลุ่ม ปตท. ไปจนถึง คู่ค้า ลูกค้า และสาธารณชนทั่วไป รวมทั้งเดินหน้ารลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ โดยการปลูกป่า หรือโครงการเพื่อชุมชนต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ปตท. ยังมีการวิจัยและพัฒนาการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การชดเชยคาร์บอนผ่านกลไกต่างๆ และดำเนินการร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมกิจกรรมและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และติดตามวิเคราะห์ผลกระทบ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยประยุกต์ใช้การบริหารจัดการความเสี่ยงระดับองค์กร พิจารณาทั้งด้านปัจจัยความเสี่ยงด้านกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และแนวโน้มของตลาด ความเสี่ยงทางการเงิน เช่น ภาษีคาร์บอน และความเสี่ยงทางกายภาพ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปตท. ได้จะพัฒนานวัตกรรมให้ปรากฏเป็นรูปธรรมทั้งพลังงานทางเลือก เช่น แก๊สโซฮอล วัสดุสังเคราะห์จากชีวภาพ ที่นำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทันสมัย มีน้ำหนักเบา ทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถังก๊าซธรรมชาติเหลว พีทีที คอมโพสิต พลัส, แก้วกาแฟ และถังป๊อปคอร์นจากวัสดุชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย