“รมช.มนัญญา” เตรียมยกเลิกใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิดเร็วที่สุด ลั่นต้องหายไปจากประเทศไทยในปีนี้
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางการเลิกใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตรได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซตสำหรับกำจัดวัชพืช และคลอร์ไพริฟอส สำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยระบุว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทบทวนมาตรการการอนุญาตนำเข้าและใช้สารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิด รวมทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารเคมีชนิดอื่นๆ ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับข้อจำกักการอนุญาตนำเข้า ซึ่งตนขอให้ชะลอร่าง พ.ร.บ. นี้ไว้ก่อน เนื่องจากมีเป้าหมายว่า จะยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวให้เร็วที่สุด ย้ำว่า ภายในปี 2562 จะต้องหายไปจากประเทศไทยทั้งหมด
“ต้องเดินหน้าเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร แล้วหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค นอกจากนี้ยังป้องปรามการขายปุ๋ยปลอมอย่างเคร่งครัด อาจใช้ OR Code เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รู้แหล่งผลิต ส่วนฉลากสารเคมีอันตรายที่กำกับบนผลิตภัณฑ์ต้องมีตัวหนังสือที่ชัดเจน อ่านง่าย ไม่ตัวเล็กจนเกินไป โดยเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรในการใช้สารเคมีต่างๆ และปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัยด้วย” น.ส.มนัญญา กล่าว
รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาวิจัยเมล็ดพันธุ์กัญชาคุณภาพดีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเป็นที่ยอมรับของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้กลุ่มสหกรณ์เป็นผู้ปลูกและรับซื้อผลผลิตอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ผลการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรจะต้องนำไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกร เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังกำชับให้กรมวิชาการเกษตรเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากประเทศเพื่อน บ้านเพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชที่อาจแพร่ระบาดเข้ามาในไทย โดยทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต้องทำงานแบบบูรณาการ เช่น กรมวิชาการเกษตรควรมีข้อมูลว่า ขณะนี้สมาชิกสหกรณ์ต้องการทำการเกษตรชนิดใด แล้วจึงทำการวิเคราะห์วิจัยเมล็ดพันธุ์หรือต้นพันธุ์พืชชนิดนั้นๆ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดได้ตรงจุด พร้อมทั้งใช้กลไกสหกรณ์ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรซึ่งมั่นใจว่า จะสามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตรซึ่งจะแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกรได้ยั่งยืน . – สำนักข่าวไทย