กรุงเทพฯ 9 ส.ค.- สุริยะเร่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีให้แข่งขันได้ในตลาดโลก พร้อมเสนอ ครม. เพิ่มวงเงินสินเชื่อกองทุนฟื้นฟูและเสริมศักยภาพสำหรับ SMEs – คนตัวเล็กอีก 3,500 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ให้มุ่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย กลุ่ม S-Curve เนื่องจากเอสเอ็มอี เป็นผู้จ้างงานในประเทศคิดเป็นร้อยละ 70 โดย ออก 3 มาตรการเร่งด่วน ดำเนินการภายใน 99 วันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรับมือวิกฤตภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ผ่านการเสริมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม, ส่งเสริมด้านการเพิ่มองค์ความรู้ และการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะจัดให้กับเอสเอ็มอีนั้น จะเน้นช่วยเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอคณะรัฐมนตรี ภายในช่วงเดือน ก.ย.หรือ ต.ค. นี้ เพื่ออนุมัติให้ขยายเพิ่มวงเงินสินเชื่อ 3,500 ล้านบาท ในกองทุนฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs-คนตัวเล็ก วางเป้าหมายช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย จำนวน 5,000 ราย แหล่งเงินมาจากสินเชื่อที่เอสเอ็มอีชำระคืนเงินกู้มาแล้วและวงเงินคงเหลือของกองทุนคนตัวเล็ก
นอกจากนี้ จะจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่ Big Brother ภายใต้โครงการ Innospace (Thailand) จำนวน 700 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs กลุ่ม Startup อีกทั้งเพิ่มการส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ด้านการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เป้าหมายจำนวน 10,000 ราย
นายสุริยะ ได้มอบหมายให้ กสอ. จัดให้มีมาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้ง ด้วยกลไกประชารัฐ ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ในการสร้างอุปกรณ์และภาชนะในการกักเก็บน้ำในระดับครัวเรือนและระดับชุมชนในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมาย 10,000 ครัวเรือนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ขอสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม จากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งการพักชำระหนี้และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังระบุว่า จากความผันผวนทางเศรษฐกิจและวิกฤติภัยแล้ง จึงได้มอบหมายให้ กสอ. กำหนดมาตรการสำคัญและเร่งด่วน คือ มาตรการสร้างโอกาสทางการตลาดและส่งเสริมการลงทุนเพื่อเป็นการสร้างและขยายโอกาสทางการตลาดกับต่างประเทศ โดยจะมีการจัดงานครบรอบ 10 ปี ความร่วมมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับประเทศญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือ “Japan Desk” ในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ซึ่งจะจัดให้มีการทำ Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนักลงทุนญี่ปุ่นมาร่วมงาน 300 รายจาก 22 จังหวัดที่ กสอ. ลงนามความร่วมมือไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งการนำเสนอให้มีกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังจะมีการจัดกิจกรรม Road Show โดยการเชิญชวนนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น นับเป็นแนวทางในการขยายการลงทุนและโอกาสทางการตลาด รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศไม่ให้ย้ายฐานการลงทุนและการผลิตไปจากประเทศไทย
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเอสเอ็มอี จำนวน 50,000 ราย โดยเน้นการยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม Startup และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลและการตลาด นำการส่งเสริม . – สำนักข่าวไทย