กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – “สุริยะ” คาดหลังเปิดโรงงานอีกครั้งจะมีแรงงาน 2 ล้านคน ไม่กลับมาทำงานตามเดิม จึงเตรียมของบจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาท ช่วยเหลือให้สามารถทำกิจกรรมทางการค้าในชุมชน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางอุตสาหกรรม SME ไทยในยุค New Normal” ในงานสัมมนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงกฎหมายโรงงานตามพรบโรงงานอุตสาหกรรมฉบับปี 2562” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยว ประมาณกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศที่มีขนาด 16-17 ล้านล้านบาท และกระทบภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโรงงานต่าง ๆ ต้องทยอยปิดไปจากการปิดประเทศและการหยุดผลิตชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานตกงานมากถึง 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ประเมินว่าหากโรงงานกลับมาเปิดสายการผลิตอีกครั้งอาจจะมีแรงงานประมาณ 2 ล้านคน ไม่กลับเข้าสู่ระบบการทำงานตามเดิมที่เคยทำ ดังนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีนโยบายที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถทำกิจกกรรมทางการค้าในชุมชนที่อาศัยอยู่ได้ โดยจะทำมาตรการเพื่อเสนอขอใช้วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาทมาช่วยเหลือต่อไป แต่ที่มีความสำคัญลำดับแรกในการช่วยเหลือคือ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อให้ไม่มีการปลดแรงงาน
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า โจทย์ใหญ่ขณะนี้ คือ การปรับยุทธศาสตร์สู่ภาวะปกติใหม่ หรือ New Normal โดยปรับเปลี่ยนการผลิตของประเทศออกจากการเป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิตที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง ไปสู่การผลิตที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และประเทศไทยยังไม่สายเกินไปที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยปรับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สาขาหลักที่จะดำเนินการประกอบด้วย 4 สาขาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1.การยกระดับการผลิตในระบบอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ จากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาแต่เกษตรกรรมไปสู่ระบบเกษตรอุตสาหกรรมโดยเพิ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาในระบบการผลิต 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกกส์อัฉริยะ ประยุกต์ไปสู่การผลิตอุปกรณ์ IoT สำหรับระบบเกษตรอุตสาหกรรมรองรับการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า
3.การฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยการรักษาอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมก้าวสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่แห่งอนาคตหนุนให้มีการลงทุนรถยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยและ 4.การปรับกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากท่องเที่ยวเชิงปริมาณสู่การท่องเที่ยวเน้นสุขภาพอนามัย เว้นระยะห่างที่เหมาะสม อุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นแหล่งรายได้ที่หยั่งยืนของประเทศในยุคต่อไป พร้อมเร่งลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ รถยนต์ไฟฟ้า ไบโอชีวะภาพที่จะต้องมีมาตรฐานการส่งเสริมและประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เหมาะสม เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ
นอกจากนี้ แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยังต้องให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกว่าที่ผ่านมา คือ เน้นการกระจายรายได้และความเจริญไปยังทุกชุมชน โดยจะต้องมีส่วนร่วมในการกินดีอยู่ดีจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการประกอบอุตสาหกรรมจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชนโดยรอบ และต้องรีบดำเนินมาตรการเร่งด่วนคือ ประคับประคองผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีไม่ให้ล้มเพื่อรักษาการจ้างงาน เพราะจะมีส่วนช่วยให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศรวดเร็วขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมกว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 14 ล้านตำแหน่งงาน เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย