กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – 3 อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 โตตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักของไทยได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากโรงงาน ซัพพลายเออร์ และธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดตัว ส่งผลต่อการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเพิ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ถูกหยุดชะงักตามมาตรการควบคุมโรค โดยมองว่าอุตสาหกรรมไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวต่อเนื่องหากไม่มีการระบาดซ้ำหรือกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคระยะที่ 2 โดยเฉพาะ 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวต่อเนื่องและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การดำรงชีพภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ได้ส่งผลให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจในสินค้าที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ระยะ 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 18.50 ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และจีน เช่น หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เป็นต้น
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนปรับเปลี่ยนเป็นทำงานที่บ้านหรือ Work from Home รวมถึงสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้สินค้า Hard disk drive และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อรองรับความต้องการใช้งานบน Cloud และ Data center เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รวม 5 เดือน ปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 1.02 ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียและเวียดนามมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รวม 5 เดือน ในปี 2563 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 8.46 และ 0.93 ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐ และจีน
อุตสาหกรรมอาหาร ก็ได้รับอานิสงส์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ส่งผลให้มีการขยายการผลิตหลายผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่เก็บรักษาได้นาน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม 5 เดือนแรก ปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วง 5 เดือนแรกของปีก่อนที่ร้อยละ 30.88 สัตว์น้ำแช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.41 สัตว์น้ำบรรจุกระป๋องขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.85 และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.07 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารยังมีอุปสรรค ได้แก่ ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรลดลง เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมันสำปะหลัง ทำให้วัตถุดิบในบางผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดของต่างประเทศได้ส่งผลต่อธุรกิจให้บริการด้านอาหาร ทำให้สินค้าประเภทไก่เนื้อและน้ำตาลในประเทศไทยมีคำสั่งซื้อลดลง.- สำนักข่าวไทย