ม.มหิดล 8 ส.ค.-มหาวิทยาลัยมหิดล คัดเลือกแม่ 18 คน จาก3 ด้าน ‘แม่สู้ชีวิต-แม่อายุ 100 ปี-แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม’ เข้ารับพระราชทานรางวัล 9 ส.ค.นี้ ขณะที่ ผอ.สถาบันวิจัยประชากรและสังคมชี้อัตราการสูงอายุของคนไทย สัมพันธ์กับความสุขและเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้สังคมในครอบครัวใกล้ชิดมากขึ้น
รศ.นพ.สรายุทธ สุภาพรรณชาติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผลการคัดเลือดแม่ดีเด่น เนื่องในงาน”มหิดล-วันแม่” ประจำปี 2562 เพื่อเชิดชูเกียรติแก่แม่ดีเด่น โดยจะมีการมอบรางวัลกับแม่ผู้ผ่านการคัดเลือก 18 คน จากแม่ 3 ด้านได้แก่ แม่ดีเด่น ด้าน แม่สู้ชีวิต,แม่ 100 ปี และแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ที่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยเกณฑ์คัดเลือกนั้น มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูล
รศ.รศรินทร์ เกรย์ ผอ.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปัจจุบันสังคมไทย ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายแตกต่างกัน หญิงเฉลี่ย 80 ปี ชาย73 ปี โดยผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะความเป็นแม่เมื่ออายุเสี่ยง 27-28 ปี ขณะเดียวกันในกลุ่มหญิงที่มีการศึกษาสูงพบว่าอัตราการแต่งงาน และมีบุตรช้าลง ส่วนการดูแลผู้สูงอายุในขณะนี้ พบว่า อัตราอายุที่เพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับความสุข ยิ่งมีความสุขยิ่งมีอายุยืน นอกจากการดูแลอย่างดีของครอบครัว ทั้งกินดีอยู่ดี
ขณะเดียวกันพบว่า ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ครอบครัวต้องทำงานพบว่า ปัจจุบันนิยมนำผู้สูงอายุไปสมัครในโรงเรียนผู้สูงอายุก็เป็นผลดีทำให้ผู้สูงอายุมีปฏิบัติสัมพันธ์ไม่เหงา ขณะเดียวกันก็พบว่าในครอบครัวของคนทำงาน เทคโนโลยีมีส่วนให้คนสูงวัยคลายเหงา เช่น มีสังคมทางไลน์ หรือมีการตั้งไลน์กลุ่มในครอบครัว นอกจากการพูดคุยทางโทรศัพท์ ที่สำคัญการดูแลผู้สูงอายุ ต้องทำให้รู้ว่า สูงวัยแต่ต้องมีคุณค่าในตัวเอง ทั้งการช่วยเหลือครอบครัวดูแลบุตรหลานเป็นตน
ด้านครอบครัว นางจำรส รัชตะชาติ อายุ 102 ปี ชาวกรุงเทพฯ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แน่นแฟ้นทำให้ไม่เหงา เนื่องจากอยู่รวมกันกับครอบครัวของบุตรสาว ทำให้เป็นครอบครัวใหญ่ และทุกเสาร์และอาทิตย์มีกิจกรรมกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอคือการปลูกต้นไม้ ทำให้เพลิดเพลิน .-สำนักข่าวไทย