กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจประเมินอิทธิพลพายุวิภา หลายอ่างฯ และแม่น้ำสายหลักได้รับอานิสงส์น้ำเพิ่มขึ้น พร้อมตีกรอบพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหล จ.เชียงราย พะเยา น่าน
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจได้ติดตามและประเมินสถานการณ์พายุโซนร้อน “วิภา”บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กม.ต่อ ชม. เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 20 กม.ต่อ ชม. คาดว่าวันที่ 2 สิงหาคมพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เชียงราย พะเยา น่าน จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักสะสม ซึ่งจากการคาดการณ์วันนี้จะเกิดฝนตกหนักภาคเหนือและอีสานตอนบนบริเวณ จ.เชียงราย พะเยา น่านแพร่ อุตรดิตถ์ เลย เพชรบูณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ทั้งนี้ แนวโน้มวันที่ 2 – 3 สิงหาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ อ.ป่าแดด จ.เชียงราย อ.ปง อ.จุน จ.พะเยา อ.ท่าวังผา อ.ปัว อ.สันติสุข จ.น่าน ขณะที่ปริมาณฝนสะสม 3 วันสูงสุด บริเวณ อ.ป่าแดด จ.เชียงราย 218 มม. อ.ปง จ.พะเยา 162 มม. อ.บ่อเกลือ 190 อ.ปัว 214 จ.น่าน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจได้มีการแจ้งเตือนน้ำหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ จ.น่าน 6 หมู่บ้าน จ.พะเยา 4 หมู่บ้าน การเตรียมพร้อม จ.เชียงราย 1 หมู่บ้าน จ.น่าน 93 หมู่บ้าน จ.พะเยา 9 หมู่บ้าน จ.แพร่ 2 หมู่บ้าน และ เฝ้าระวัง จ.เชียงราย 11 หมู่บ้าน จ.แพร่ 3 หมู่บ้าน จ.น่าน 28 หมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของพายุนี้จะทำให้เกิดฝนตกบริเวณแนวปะทะลมหน้าเขา ซึ่งจะส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ กลาง และเล็กในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มากขึ้น ซึ่งศูนย์ฯ ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ สะสม 3 วันล่วงหน้า พบว่า มีแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มขึ้น อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ 27 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนภูมิพล 10 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนศรีนครินทร์ 35 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนวชิราลงกรณ์ 48 ล้าน ลบ.ม.เป็นต้น โดยศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจจะมีการติดตามแนวโน้มปริมาณฝนไหลเข้าอ่างฯ เพื่อปรับแผนการเก็กกักน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุมีทั้งสิ้น 21 แห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนห้วยหลวง หนองหาร เขื่อนสิรินธร เขื่อนขุนด่านปราการชล ขนาดกลาง 162 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 31 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 110 แห่ง ภาคตะวันออก 12 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำทุกภาคของประเทศ แม่น้ำสายหลักระดับน้ำอยู่ในสภาวะน้ำน้อย แต่เนื่องจากมีฝนตกสะสมบางพื้นที่ ส่งผลให้น้ำในลำน้ำสายหลักบางสายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ แม่น้ำชี เป็นต้น
“ขณะนี้สภาพอากาศแนวโน้มฝนและความชื้นในอากาศมีเพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างฯ เมื่อวานนี้ (31 ก.ค.) ปฏิบัติการพื้นที่ จ.กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ขณะเดียวกัน สทนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานเร่งกักเก็บเพิ่มน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำและเติมน้ำต้นทุนให้พื้นที่การเกษตรให้ได้มากที่สุด เตรียมแผนสำรองขุดลอกทำท่อเชื่อมต่อเพื่อให้ระบบประปาบริหารจัดการน้ำได้ไปถึงต้นเดือนกันยายน รวมทั้งเตรียมประเมินปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนหลังจากสิ้นเดือนสิงหาคมอีกครั้ง” นายสำเริง กล่าว.-สำนักข่าวไทย