กรุงเทพฯ 30 ก.ค. – หลายหน่วยงานร่วมแก้ปัญหาภัยแล้ง แนะเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซื้อประกันภัยพืชผลลดความเสียหาย
คณะกรรมาธิการวิชาการ วุฒิสภา จัดสัมมนา “ปัญหาภัยแล้ง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร” เชิญหลายหน่วยงานชี้แจงเกี่ยวกับการร่วมมือแก้ปัญหาภัยแล้ง นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า รัฐบาลเร่งออกหลายมาตรการช่วยเหลือภัยแล้ง แต่ต้องการให้เกษตรกรดูแลไม้ยืนต้นด้วยการตัดหญ้าคุมโคนเพื่อรักษาความชื้นและทำประกันภัยพืชผลลดความเสียหายจากภัยแล้งโดยเฉพาะลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับการชดเชยเบี้ยประกัน เพื่อให้มีระบบประกันช่วยดูแลความเสียหาย เพราะรัฐบาลชดเชยดูแลความเสียหายให้กับเกษตรกร รัฐบาลยังเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชรองรับการปลูกรอบ 2 ให้กับเกษตรกร
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน ยอมรับว่าปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าคาดการณ์ร้อยละ 40 จากความต้องการน้ำตลอดฤดูฝนปี 2562 (พ.ค.-ต.ค.) จำนวน 11,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านระบบชลประทาน 4,400 ล้านลูกบาศเมตร น้ำฝน 6,877 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงต่ำกว่าตลิ่ง 8-10 เมตร เมื่อเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จึงต้องเร่งหาทางสำรองปริมาณน้ำรองรับการใช้บริโภคให้เพียงพอ
สำหรับการปลูกพืชเกษตร ต้องแจ้งให้เกษตรกรรับทราบเกี่ยวกับการจัดอันดับปลูกในพื้นที่ดอน พื้นที่ลุ่ม เช่น การเลื่อนเวลาปลูกลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 ทุ่ง พื้นที่ 1.5 ล้านไร่ เปิดให้ปลูกข้าวไปก่อนแล้ว เตรียมเก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก โดยยังหวังพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนสู่ประเทศไทย 1-2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 คาดว่าจะเกิดฝนตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ กระทรวงมหาดไทยจึงต้องการแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงช่วยกันประหยัดการใช้น้ำทั้งการบริโภค ทำการเกษตรให้เหมาะสม
นายมงคล หลักเมือง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ ชี้แจงว่า ขณะนี้มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 20 จังหวัด ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติภัยแล้งเพียง 1 จังหวัด คือ มหาสารคาม ส่วนพื้นที่อื่นทยอยเข้าช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า พื้นที่เกษตรทั้งประเทศ 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ต้องการน้ำฝน 114 ล้านไร่ พื้นที่เขตชลประทาน 35 ล้านไร่ นับว่าพื้นที่รอรับน้ำฝนยังมีจำนวนมาก ยอมรับว่าการทำฝนยังมีอุปสรรค เพราะมีปัญหาลมแรง ความชื้นอากาศไม่เอื้ออำนวยต่ำการทำฝนเทียม
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ สว. อภิปรายว่า เสนอแนะให้ทุกหน่วยงานเดินหน้ายุทธศาสตร์น้ำอย่างเต็มที่ เพราะต้องใช้เวลานานบริหารจัดการน้ำ เพราะแหล่งน้ำปัจจุบันยังไม่เพียงพอ เช่น ชัยภูมิ พื้นที่เก็บน้ำน้อยมาก มีปัญหาน้ำหลากไม่สามารถเก็บน้ำได้ เพราะเป็นพื้นที่สูงน้ำท่วมและไหลผ่านรวดเร็ว หลายพื้นที่จึงต้องพัฒนาอ่างเก็บน้ำ ให้เพียงพอ.-สำนักข่าวไทย