จาการ์ตา 25 เม.ย. – ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันพืชที่พุ่งสูงขึ้นหลังอินโดนีเซียสั่งระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำมันพืชทั่วโลกย่ำแย่ลงมากขึ้นจากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและการรุกรานยูเครนของรัสเซียอยู่ก่อนแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มคาดการณ์ว่า คำสั่งระงับส่งออกน้ำมันปาล์มที่อินโดนีเซียประกาศเมื่อวันที่ 22 เมษายนว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายนเป็นต้นไป จะทำให้ราคาน้ำมันพืชทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา โดยจะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นต่อผู้บริโภคในทวีปเอเชียและแอฟริกาที่กำลังเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันและอาหารปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว นายเจมส์ ฟราย ประธานของแอลเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและธุรกิจการเกษตรชั้นนำของโลก เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า คำสั่งระงับส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียไม่เพียงส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อปริมาณน้ำมันพืชทั่วโลกด้วย เนื่องจากการส่งออกน้ำมันพืชอื่น ๆ ก็มีปริมาณลดลงจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาภัยแล้งในแอฟริกาใต้ที่ส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง ปัญหาสภาพอากาศเลวร้ายในแคนาดาที่ส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันคาโนลา และปัญหาขาดแคลนน้ำมันดอกทานตะวันจากภาวะสงครามในยูเครน
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ทั่วโลกใช้น้ำมันปาล์มคิดเป็นร้อยละ 60 ของน้ำมันพืชทั้งหมด อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันพืชรายใหญ่ของโลกคิดเป็นร้อยละ 30 ของการส่งออกน้ำมันพืชทั้งหมด และได้ประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อรับมือกับปัญหาราคาสินค้าแพงในประเทศ ขณะนี้ ราคาน้ำมันพืชทั่วโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในมาเลเซียไปจนถึงปัญหาภัยแล้งในอาร์เจนตินา ผู้ส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลก และแคนาดา ผู้ส่งออกน้ำมันคาโนลารายใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงปัญหาสงครามในยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายสำคัญของโลก ที่ทำให้ยูเครนต้องหยุดส่งออกน้ำมันดังกล่าว. -สำนักข่าวไทย