กรุงเทพฯ 20 ก.ค.-_ผู้แทนชาวสวนยางจี้ รักษาการ ผู้ว่า กยท. คนใหม่ ทวงเงิน ขายยาง รักษาเสถียรภาพ คืนจาก “ธีธัช” พร้อมแนะชาวสวนยางโค่นต้นยาง และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรสวนยางแห่งประเทศไทย(สยยท.) กล่าวเห็นด้วยกับ มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารรักษาการการยางแห่งประเทศไทย แต่งตั้ง นายศิริรุจน์ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) แทนนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าฯ กยท.ที่ลาออกไป และขอสอบถามนายศิริรุจน์ ที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าฯ กยท.ได้นำเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยาง (CESS) 94 ล้านบาท ไปซื้อยางฯโดยระบุว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาตามมาตรา49(3) และขาย ยางฯให้พ่อค้า โดยไม่ยอมชำระเงินให้ กยท. มา 2 ปี แล้ว ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
สำหรับราคายางฯขณะนี้ทุกฝ่ายทราบดีว่า ราคาในตลาดล่วงหน้า ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กำหนดต้นทุนผลิตยางอยู่ที่ 63.65 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่พบว่าตลาดค้ายางฯในไทยปัจจุบัน ตกอยู่ภายใต้กลุ่มพ่อค้าจากจีน ที่เข้ามาซื้อกิจการบริษัทคนไทยที่ส่งออกยาง 5 บริษัทใหญ่ หรือ 5 เสือไปเกือบหมดแล้ว กลุ่มทุนจีนมาจ้างโรงงานผลิตยางแท่ง STR20 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับค่าผลิต 5 บาทต่อกิโลกรัม แล้วนำไปขายตลาดล่วงหน้า 42-45 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นกำหนดราคารับซื้อจากเกษตรกร จึงทำให้เกษตรกรต้องขายยางต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ดังนั้น สยยท. ขอเสนอให้สนับสนุนเกษตรกรพึ่งพาตนเอง โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาแก้ปัญหา
“ราคายางฯอยู่ในภาวะตกต่ำ ก็ขอให้เกษตรกรใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมๆเดินหน้าลดจำนวนต้นยางฯจากไร่ละ70ต้นเหลือ 40 ต้น และภายใน 2 ปีแรกให้ปลูกพืชแซมยางเช่น ต้นเหลียง กาแฟ เมื่อเข้าปีที่ 3 ให้ปลูกไผ่ร่วมยาง และขุดสระน้ำเพื่อใช้รดน้ำพืช ส่วนในสระเลี้ยงปลา บนสระเลี้ยงไก่รอบสวนเลี้ยงหมูหลุมเพี่อผลิตปุ๋ยหมัก เพื่อให้พึ่งตนเองได้มากที่สุด”นายอุทัยกล่าว
นายอุทัย กล่าวว่า จากที่นายศิริรุจน์เป็นรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็น่าจะเชื่อมโยงร่วมกับสถาบันเกษตรกร ส่งเสริมอาชีพเสริมให้ชาวสวนยาง ทำเกษตรอุตสาหกรรม แปรรูปทำผลิตภัณฑ์ยาง เช่น การนำไปทำสนามเด็กเล่น สนามฟุตซอลต์ หมอนยางฯ รองเท้ายางฯ เป็นต้น –สำนักข่าวไทย