หอประชุม ทีโอที 8 ก.ค.- ส.ว.ชำแหละแผนปฏิรูปประเทศ ชี้ ไม่มีรายงานผลสัมฤทธิ์จากการปฏิรูปว่าประชาชนจะได้อะไร ขณะที่ รองเลขา สศช.ยัน มีการปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน และมีการปฏิรูปไปแล้วกว่า 18,000 โครงการ
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (8 ก.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2562 หลังผ่านการรับทราบในขั้นของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ชี้แจงรายงาน ยืนยันว่า การปฏิรูปที่ผ่านมาเน้นปรับปรุงกฎหมาย สร้างความสะดวกทางกฎหมายให้กับประชาชน เน้นการให้ประชาชนสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทุกสถานีตำรวจ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งความเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุเท่านั้น มีการแก้ไขกฎหมายขายฝากที่ดินให้มีความเป็นธรรม ออกกฎหมายวิสาหกิจชุมนมสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับประชาขนในท้องถิ่น พร้อมเตรียมตั้งสำนักงานแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม อยู่ภายใต้ ศสช.ต่อไป
นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย เปิดให้มีการออมเพื่อวันเกษียณ มีการตั้งศูนย์อำนวยการยุติธรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น และมีเรื่องปฏิรูปจำนวนมาก ขณะนี้มีการดำเนินโครงการเพื่อการปฏิรูปไปแล้ว 18,469 โครงการ
ด้าน นายตวง อันทะไชย ส.ว. อภิปรายว่า ปัญหาของการปฏิรูปคือสิ่งที่ควรทำไม่ทำ สิ่งที่ไม่ควรทำกลับทำ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะหัวใจสำคัญของการปฏิรูป คือเรื่องการศึกษา และควรต้องกระจายอำนาจ แต่จากรายงานเรื่องนี้ กลับไม่มีรายละเอียดถึงผลสัมฤทธิ์ในการปฏิรูป เช่น อยากทราบว่ากองทุนปฏิรูปการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เงินถึงผู้ยากไร้จริงหรือไม่ ได้นำเงินมาพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาหรือไม่ เพราะตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน ดังนั้น การรายงานครั้งต่อไป ขอให้รวมปัญหาและอุปสรรคว่าทำไปแล้วมีปัญหาอะไร ได้ผลอย่างไรมารายงานด้วย
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า รายงานผลการปฏิรูปฉบับนี้ ไม่มีความคืบหน้า มีแต่ตาราง ตัวเลข ของยุทธศาสตร์ แต่ไม่มีสิ่งบ่งบอกว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการปฏิรูปที่ผ่านมา ซึ่งหากบอกว่าประชาชนไม่ได้ ก็จะเสมือนรัฐบาล จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทุก ๆ 3 เดือนที่มีการนำเสนอรายงานการปฏิรูป
พล.ร.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า รูปแบบการรายงานไม่มีรายละเอียดของผลการดำเนินการปฏิรูปของคณะต่าง ๆ และเห็นว่าในแผนปฏิรูปทุกด้าน ไม่มีแผนการปฏิรูปด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญ . – สำนักข่าวไทย