สธ.15 ธ.ค.-สธ.จัดระบบดูแลสุขภาพผู้ต้องขังหลังได้รับอภัยโทษ โดยร่วม กับกรมราชทัณฑ์ตรวจสุขภาพเน้นคัดกรองโรคติดต่อ โรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ‘วัณโรค-โรคเอดส์-สุขภาพจิต” พร้อมตรวจสอบสิทธิรักษาเพื่อได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง ไม่อันตรายต่อตนเอง-ผู้ใกล้ชิด
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในการจัด ระบบการดูแลรักษาพยาบาลผู้ต้องขังในเรือนจำ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด รวมทั้งได้พัฒนาแนวทางการจัดระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้เป็นไปตามสิทธิของผู้ต้องขังและสิทธิในการได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐ ซึ่ง สธ.ดูแล ในการจัดระบบให้บริการสาธารณสุขทั้งระบบ
ทั้งนี้ระบบการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับสนับสนุนงบฯ จาก 2 แหล่ง คืองบรักษาพยาบาลจากกรมราชทัณฑ์ดูแลผู้ต้องขังทั่วประเทศ321,347 คน (ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ก.ค.2559) และงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จัดสรรให้โรงพยาบาล ในเขตพื้นที่รับผิดชอบตามรายหัวผู้ต้องขังที่มีเลข 13 หลัก
โดย สธ.มอบให้ รพ.ในพื้นที่ที่มีเรือนจำตั้งอยู่ใน 44 จังหวัดประสานการจัด ระบบบริการในเรือนจำร่วมกับกรมราชทัณฑ์ให้บริการตรวจรักษา พยาบาลการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ การฟื้นฟูสุขภาพ บริการทันตกรรม จัดระบบการให้คำปรึกษา การส่งต่อ การดูแลสุขภาพจิต ระบบอาสาสมัคร หรือผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พยาบาลในเรือนจำ รวมทั้งประเมินคุณภาพสถานพยาบาลตามมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังและหาก รพ.ที่ต้องรับการส่งตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำ จะพิจารณาจัดห้องพักพิเศษไว้สำหรับผู้ต้องขังและสถานที่สำหรับนอนเฝ้าของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เหมาะสมกับการควบคุมผู้ต้องขังไม่ให้หลบหนี
สำหรับกรณีจะมีการอภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษในเดือนธ.ค.59 และต้นปี 60 นั้น สธ.กำชับให้ รพ.ในพื้นที่ประสานเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ดำเนินการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคผู้ต้องขังที่จะได้รับการอภัยโทษก่อนที่จะได้ รับการปล่อยตัว เน้นคัดกรองโรคติดต่อและโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง อาทิ วัณโรค โรคเอดส์ สุขภาพจิต เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้ใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบสิทธิด้านการรักษา การส่งตัวรักษาต่อเนื่องใน รพ.ตามภูมิลำเนาและสิทธิการรักษา ทั้งนี้ ให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกตีตราจากสังคม.-สำนักข่าวไทย