ม.ศิลปากร14 มิ.ย..-นักวิชาการไทย-ต่างชาติ เสนอแก้ปัญหาประเทศด้วยการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เกิดแรงบันดาลใจร่วมพัฒนาเมือง ดึงคนยากจนเข้ามามีส่วนร่วม นำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ข้ามศาสตร์แก้ปัญหาด้านสุขภาพ วัฒนธรรมท้องถิ่น และปัญหาประชาธิปไตย
นายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงวิชาการทางศิลปะ หัตถศิลป์ และการออกแบบ ครั้งที่ 3 “The 3rd International Symposium on Art, Craft and Design (ARCADE 2019) ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน ภายใต้หัวข้องาน “Establishing Society, Establishing Humanity” หรือ “ศิลปะสร้างคนสร้างชาติ” เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองแนวคิดกันโดยมีนักวิชาการและศิลปินดังกว่า 30 คนจาก 7 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน
นายยูซากุ อิมามูระ ศาสตราจารย์จากสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยทางด้านศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ปรึกษาของมหานครโตเกียวได้ย้ำว่าการพัฒนาโครงสร้างเมืองมีส่วนในการพัฒนาคนแม้เมืองหลวงขนาดใหญ่อย่างกรุงโตเกียวจะให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนามนุษย์เพราะเทคโนโลยีสุดล้ำไม่อาจตอบปัญหาได้ทั้งหมด เช่น โครงการการเปิดพื้นที่พิเศษโตเกียว(Tokyo wonder Site)ใจกลางเมือง ฮงโงะ อาโอยาม่า และชิบุย่าที่รัฐบาลท้องถิ่นร่วมมือกับ หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนทำงานเชิงนโยบายผลักดันให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรม งานศิลปะ ดึงดูดศิลปินระดับนานาชาติร่วมสร้างสีสันให้กับพื้นที่ แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เป็นอย่างยิ่ง รัฐส่งเสริมในการหาที่อยู่ราคาถูกให้กับศิลปิน การนำขยะในกรุงโตเกียวสร้างานศิลปะ เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างอนาคตของชาติและการสร้างความเข้มแข็งให้กับมนุษย์และสังคม มนุษย์ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก เวทีที่มีพื้นที่ให้คนได้ปลดปล่อย นำมาสู่การเกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการสร้างคนและนำสู่การสร้างชาติได้โดยผ่านโครงสร้างที่ดี
ด้านศาสตราจารย์จูเลียน กอดดาร์ด คณบดีวิทยาลัยศิลปะ ราชวิทยาลัยเทคโนโลยีเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เสนอการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ ผสมผสานกับทักษะของมนุษย์ซึ่งจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมได้ เพราะการที่มนุษย์ไม่ทิ้งทักษะความละเอียดอ่อนพิถีพิถันของมนุษย์งานช่างฝีมือ กลไกเหล่านี้จะทำให้มนุษย์กลายเป็นพลเมืองที่ดีขึ้นได้ ไม่เป็นเพียงแรงงานผลิตสินค้า เช่น ชุมชนช่างฝีมือมีทักษะในเม็กซิโก ซิตี้ที่สร้างเมืองให้เกิดคุณค่าทางสุทรียศาสตร์
ขณะที่นายซูมาโตโน่ อาจารย์จากสถาบันศิลปะยอกยาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซียผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนไม่เห็นด้วยในการทำงานที่เป็นการสั่งจากบนลงล่างจากรัฐที่ขาดความต่อเนื่อง จากการลงพื้นที่ทำงานระดับท้องถิ่นพบว่าการมีส่วนร่วม ระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และชาวบ้าน กระบวนการสร้างนวัตกรรมด้วยฝีมือคนจน ทำให้ชาวบ้านมีเป้าหมาย กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ยกระดับความเป็นมนุษย์ ทำให้ภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น รักษาสิ่งแวดล้อม รู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อม และทำให้คนเล็ก ๆ มีที่ยืนในสังคม และมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น เช่นเมืองเล็กๆที่เป็นย่านออกแบบในจังหวัดยกยาร์การ์ต้า
ศาสตราจารย์พัน ทันห์ บินห์ อธิการบดีวิทยาลัยศิลปะ มหาวิทยาลัยเว้ ประเทศเวียดนาม ระบุว่ามหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสร้างเมืองโดยเปิดหลักสูตรช่างฝีมือ ศิลปะร่วมสมัย มีการจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัย ทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ ๆ เวียดนามยังสามารถรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการรักษาเทคนิคท้องถิ่นในงานสร้างสรรค์ ออกแบบ เช่น การลงรักแบบธรรมชาติแท้ๆไร้สารเคมีแบบฉบับของเมืองเว้ เมืองหลวงเก่า ทำให้เกิดการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าเมือง และในอนาคตอาจจะมีการจัดกิจกรรมศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์เมืองเว้มากขึ้น
ด้านศ.รัสลัน บิน อับดุล ราฮิม คณบดีคณะศิลปะและการออกแบบ ม.เทคโนโลยีมารา ยูไอทีเอ็ม ประเทศมาเลเซีย นักวิชาการต้องทำสิ่งที่จะให้แก่สังคมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยยกตัวอย่างผลงานออกแบบนำเทคโนโลยีวีอาร์ไปใช้ช่วยผู้ป่วยและแพทย์ที่อยู่ห่างไกลได้มองเห็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนมองผ่านเครื่องมือ การนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติใช้ทดแทนแม่พิมพ์แกะไม้ในการทำบาติกได้สำเร็จ เป็นกระบวนการตัวอย่างที่ใช้เทคโนโลยีช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)ได้นำไปบรรจุในแผนพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
สำหรับงานประชุมจัดขึ้นระหว่าง 12-14 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โดยมีการนำเสนองานวิจัยเปี่ยมคุณภาพของนักวิชาการ 12 คน กิจกรรมเวิร์คชอป การทำผ้าบาติก เขียนการ์ตูนคอมมิค นอกจากนี้มีการแสดงศิลปะจากศิลปินชั้นนำกว่า 30 คน ซึ่งจะจัดแสดงถึงวันที่ 27 มิถุนายน ณ หอศิลป์บรมราชกุมารี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.-สำนักข่าวไทย