กรุงเทพฯ 11 มิ.ย.-ภาคเอกชนคาดรัฐบาลเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ด้าน กฟผ.รอครม.อนุมัติแผนนำเข้าแอลเอ็นจีโดยไม่มั่นใจจะสามารถนำเข้าทันปี 62 หรือไม่ ด้านอินโนสเปซเชื่อมั่นรัฐบาลหนุนต่อ
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. กล่าวว่า กกร. เตรียมเสนอสมุดปกขาวต่อรัฐบาลใหม่ โดยสิ่งหลักที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 3-4 โดยจะต้องพิจารณาจากภาพรวมเศรษฐกิจให้ครบถ้วน เช่น กรอบอัตราเงินเฟ้อและการรักษาวินัยการเงินการคลัง การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับภาคเศรษฐกิจ โดยต้องยอมรับว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จนกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
“การจะใช้เม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนั้นคงจะต้องประเมินภาพรวมทั้งผลกระทบเศรษฐกิจโลก และต้องใช้เม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อาจส่งผลการจัดทำงบประมาณประจำปี 2563 ล่าช้าออกไป และการเบิกจ่ายงบฯไตรมาสมาสแรกปี63 อาจไม่ทันหรืออาจล่าช้าไปช่วงต้นม.ค.63”นายปรีดีระบุ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษาบริษัทอินโนสเปซ (ประเทศไทย) เสนอว่า เชื่อมั่นรัฐบาลใหม่ผลักดันธุรกิจ startup รวมถึงการผลักดันให้ธุรกิจใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อก็เป็นการสานต่อนโยบายเดิมที่วางไว้ โดยวันนี้ มีการลงนามร่วมกับภาครัฐ-เอกชน-สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา 30 องค์กร เป็นความร่วมมือ ซึ่งคาดว่าจะระดมทุนในเดือนหน้าได้กว่า 500 ล้านบาทในการส่งเสริมสตาร์ทอัพ
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ต้องรอ ครม.ใหม่ เห็นชอบในการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี สัญญา 8 ปี โดย กรณีนี้เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในขณะนี้ กฟผ.กำลังเจรจากับ บมจ.ปตท.ในการแก้ไขปัญเทคออร์เพย์ (ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย)ปี 62-63 ซึ่งหากเจรจายังไม่จบ ก็อาจจะเจรจากับผู้จำหน่ายในการลดปริมาณขายในปี 63 ซึ่งหาก ครม.พิจารณาล่าช้า ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถนำเข้าได้ทันในปี62 หรือไม่ จากเป้าหมายจะเริ่มนำเข้าล็อตแรกในเดือนกันยายน 62
“กฟผ.ไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ใช่ว่าสัญญานำเข้า แอลเอ็นจี แสนล้านบาท แล้วเกิดภาระต้นค่าไฟฟ้า สิ่งนี้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่ให้นำเข้า และที่สำคัญคือต้นทุนนำเข้าจะต่ำกว่าสัญญาระยะยาวของ ปตท. แต่ในช่วงปี 63จะเกิดปัญหาเทคออร์เพย์ ซึ่งก็พยายามแก้ไขปัญหากันอยู่” นายพัฒนากล่าว
ในขณะที่แผนงานตาม แผน พัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580(PDP 2018) ต้องรอ รมว.พลังงานคนใหม่มาพิจารณา เช่น แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบของ กฟผ. แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลัก 6,150 เมกะวัตต์ ,แผนลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสานระหว่าง ‘พลังน้ำจากเขื่อน’ และ ‘พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำบนเขื่อน’(Hydro-Floating Solar Hybrid) กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ -สำนักข่าวไทย