รพ.จุฬาฯ 10 มิ.ย.- PwC ประเทศไทย จัดงานวิ่งการกุศล มอบรายได้ ซื้อเครื่องมือผ่าตัดรักษาจอตาลอกให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ( PwC) แถลงจัดงานวิ่งการกุศล “Restore Vision, Run for Sight” ในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2562 เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบรอบ 60 ปี โดยรายได้จากการจำหน่ายบัตรและเงินบริจาคของ PwC ประเทศไทย จะมอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อซื้อเครื่องมือผ่าตัดรักษาโรคจอตาลอก
นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หัวหน้าฝ่ายงาน Clients and Markets บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าว ถึงความคาดหวังว่า เครื่องมือผ่าตัดจอตาลอก จะช่วยลดระยะเวลาการรอรับการผ่าตัดของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาลอก และช่วยเสริมศักยภาพการรักษาผู้ป่วยของภาควิชาจักษุวิทยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะดวงตา เป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ เพราะหากการมองเห็นลดลง ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ PwC ประเทศไทย จึงเลือกนำเงินรายได้และร่วมสมทบทุนบริจาคให้แก่ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำไปซื้อเครื่องมือผ่าตัดรักษาจอตาลอกเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งผู้ป่วยสูงอายุที่กำลังประสบปัญหาโรคจอประสาทตาลอกและโรคตาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายแพทย์ กิตติศักดิ์ กุลวิชิต หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคจอประสาทตาลอก ถือเป็นโรคตาที่พบบ่อยในผู้ป่วยคนไทย เกิดจากการที่จอตาหรือชั้นเนื้อเยื่อบางๆ ด้านหลังดวงตาแยกออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้เนื้อเยื่อขาดสารอาหารอย่างรุนแรง เซลล์รับภาพถูกทำลายจนอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นบางส่วน หรือทั้งหมดหากไม่ได้รับการผ่าตัดทันเวลา โดยในปี 2561 มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดจอตาลอก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมทั้งสิ้น 132 ราย หรือคิดเป็นจำนวนผู้ป่วยโดยเฉลี่ย 3-8 รายต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันจำนวนเครื่องมือผ่าตัดจอตาลอกของโรงพยาบาลมีอยู่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องต่อคิวเพื่อรอรับการรักษาเป็นเวลานานถึง 2 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้ป่วยที่มีมากกว่าความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากทางภาควิชาจักษุวิทยา ได้เครื่องมือผ่าตัดมาเสริมศักยภาพให้กับโรงพยาบาล ก็จะทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยโรคตาได้มากขึ้น เพราะนอกจากเครื่องมือผ่าตัดจอตาลอกจะช่วยรักษาโรคจอประสาทตาลอกแล้ว ยังสามารถรักษาโรคตาอื่นๆ ทางจักษุวิทยา เช่น การติดเชื้อในวุ้นตา เลือดออกในวุ้นตา เลนส์ตาเคลื่อน เป็นต้น ได้อีกด้วย และทำให้ผู้ป่วยโรคตาเหล่านี้ได้มีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะสูญเสียการมองเห็น
“ต้องขอขอบคุณคณะผู้บริหารและพนักงานของ PwC ประเทศไทย ที่ร่วมกันจัดงานวิ่งการกุศลครบรอบ 60 ปี “Restore Vision, Run for Sight” เพื่อหารายได้และร่วมสมทบทุนซื้อเครื่องมือผ่าตัดจอตาลอกให้แก่ทางภาควิชาจักษุฯ ผมและคณะแพทย์เชื่อว่า หากเราได้เครื่องมือผ่าตัดจอตาลอกเข้ามาเพิ่มจะทำให้ผู้ป่วยที่กำลังรอคิวเข้ารับการรักษาได้ผ่าตัดรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม” นายแพทย์ กิตติศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย