กรุงเทพฯ 9 มิ.ย. – กสอ.หนุนธุรกิจเครื่องสำอางจากวัตถุดิบธรรมชาติ ตั้งเป้าปี 62 ดันผู้ประกอบการเครื่องสำอางสู่การเป็นเครื่องสำอางอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยกระดับสู่มาตรฐานสากล หวังผลักดันไทยเป็นปารีสแห่งเอเชีย
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องสำอางมีการแข่งขันค่อนข้างสูง จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังจากปี 2560 ตลาดเครื่องสำอางไทยมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 251,000 ล้านบาท แยกเป็นตลาดในประเทศ 168,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีผลิตภัณฑ์ดูแลผิวครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.8
ขณะเดียวกัน การส่งออกเครื่องสำอางไทยไปตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 83,000 ล้านบาท ขณะที่ 8 เดือนแรกปี 2561 มีการส่งออกเครื่องสำอางของไทยมูลค่ากว่า 62,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.1 โดยมีตลาดที่สำคัญ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน เห็นได้ว่ามีการเติบโตขึ้น และคาดว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและตอบโจทย์ลูกค้าหลายกลุ่มมากขึ้น เช่น เครื่องสำอางสำหรับเด็ก ผู้ชาย ผู้สูงอายุ เครื่องสำอางจากวัตถุดิบธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์ และเครื่องสำอางจากสมุนไพรไทย ซึ่งกรมฯ พร้อม สนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องสำอางสู่การเป็นผู้ประกอบการเครื่องสำอางอินทรีย์
“เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามสมุนไพรอินทรีย์และออร์แกนิคของไทยมีจุดเด่นเฉพาะตัวทั้งรูปลักษณ์และกลิ่น จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดย กสอ.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ของเมืองแห่งเครื่องสำอางโลก และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาคเป็นปารีสแห่งเอเชีย” นายกอบชัย กล่าว
ด้านนายทัตภณ จีรโชตินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วธูธร จำกัด กล่าวว่า กสอ.ให้คำแนะนำปรับการทำการตลาดจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ และยังแนะนำให้ผลิตแบรนด์ของตนเอง ชื่อ Herbalist Siam ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบจากข้าวหอมมะลิแดงมาพัฒนาแปรรูปเป็นเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานสากล ได้แก่ ASIAN GMP , ISO22716, ISO9001 (2015) และ Halal cosmetics จนสามารถขยายช่องทางตลาดและนำผลิตภัณฑ์ไปร่วมออกบูทแสดงสินค้าในงาน “The China International Organic Food Industry Expo 2018”จากเดิมบริษัทผลิตแต่สินค้า OEM มีรายได้ 10 – 20 บาทต่อปี แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการกับ กสอ. และมีการพัฒนาสินค้าเป็นแบรนด์ตนเองสามารถก่อให้เกิดมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 40 บาท จนยอดขายทะลุ 50 บาท เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ซึ่งถือว่าธุรกิจมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด.-สำนักข่าวไทย