กรุงเทพฯ 21 ส.ค.- ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก มีสิทธิแค่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หากพิจารณาความหมายในคำถามพ่วง ขอทุกฝ่ายอย่าสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งให้บ้านเมือง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วน มีความเห็นถึงการพิจารณาคำถามพ่วงประชามติ ที่มีปัญหาเรื่องการให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อพรรคการเมืองได้ มีขอบข่ายถึงขั้นเสนอชื่อได้ด้วยหรือไม่ ว่า โดยหลักการแล้ว ส.ส.เป็นผู้มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง โดยไม่มีข้อยกเว้น หรือมีคำถามพ่วงใดมาเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในส่วนของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คำถามพ่วงที่ประชาชนเห็นชอบนั้นให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย โดยถ้าพิจาณาจากคำถามพ่วงที่ได้ถามประชาชนไปนั้นความหมายครอบคลุมแค่ให้ ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแต่ไม่มีสิทธิเสนอชื่อไม่ว่าจะเป็นรอบที่ 1 หรือรอบที่2 ก็ตาม
“ประเด็นที่ให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในรอบแรกนั้นชัดเจนแล้วว่าต้องเป็น ส.ส. 500 คน และมีส.ว. 250 คนร่วมโหวต โดยไม่มีกฎหมายใดมายกเว้น แต่ขณะนี้ยังมีความสับสนกันอยู่ ว่าหาก ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ในขั้นแรก ขั้นต่อไปจะให้ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่นั้น ความเห็นของผมมองว่า ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกในขั้นตอนใด ๆ เลย เพราะสิทธิในการเสนอต้องเป็นของพรรคการเมืองและส.ส.ให้ ส.ว.มีสิทธิแค่ร่วมโหวตเท่านั้น”คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าว
เมื่อถามว่าข้อเสนอที่ให้ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ คนนอก มองว่ามีวาระใดแอบแฝงหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หาก สนช.จะให้ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีควรให้ กรธ.เขียนคำถามพ่วงนี้ในคำถามประชามติตั้งแต่ต้น ไม่ควรมาตีความเองแบบนี้ แต่ตนมองว่าเป็นเพียงข้อเสนอของ สนช.บางคนเท่านั้น เข้าใจได้เมื่อประชามติผ่านแล้ว อาจจะมีบางส่วนที่ได้คืบและจะเอาศอก ส่วนจะมีวาระใดแอบแฝงหรือไม่ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณา
ส่วนการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีความมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความไปในทิศทางใด เพราะระยะหลังการตีความกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใด ก็คาดเดาได้ยาก สิ่งใดที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะทำอะไร ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ที่ไปลงประชามติ และต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญด้วย สิ่งสำคัญขณะนี้คืออย่าสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ให้กับบ้านเมือง .-สำนักข่าวไทย