โรงแรมเอสซี ปาร์ค 13 พ.ค.-สภาวิศวกร ห่วงเด็กเข้าเรียนวิศวกรรมน้อย เหลือแค่ร้อยละ5 เร่งมหาวิทยาลัยประชาสัมพันธ์เห็นความสำคัญ
สภาวิศกร จัดเสวนา 20 ปี สภาวิศวกรไทยในยุคดิสรัปชั่น โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานด้านวิศวกรรม มหาวิทยาลัยต่างๆที่ผลิตวิศวกรทั่วประเทศ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วิศวกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมในงานเสวนา ในโอกาสครบรอบ 20 ปีสภาวิศวกร
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยน แปลงบริบททั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และอาชีพวิศวกรถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นบนโลก แต่ด้วยยุคที่จะมีการเปลี่ยผ่านจากคนยุคเก่าไปเป็นคนรุ่นใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อเหตุการณ์ ตอบสนองความต้องการตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้จึงได้ร่วมกับสถานศึกษาต่างๆให้ความสำคัญกับหลักสูตรด้านการเรียนการสอนวิศวกรรม สิ่งที่เป็นปัญหาและเป็นจุดอ่อนของวิศวกรไทยคือการสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง เทคโนโลยีที่นำไปพัฒนาประเทศ หรือขายงานสร้างรายได้เข้าประเทศ เรื่องนี้ยอมรับว่าไทย เป็นรองเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ค่อนข้ลงเยอะ จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทัดเทียมกับนานประเทศ เพราะศักยภาพของเด็กไทยไม่แพ้ชาติใด แต่ขาดหลักสูตร ขาดเวทีที่จะดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมา จึงจำเป็นต้องปฎิรูปการเรียนร่วมกัน
นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สิ่งที่หน่วยงานด้านวิศวกรรมกังวลอย่างมากคือตัวเลขของเยาวชนที่จะมาเลือกเรียนด้านวิศวกรรม ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยมากจนน่าตกใจ สถิติปัจจุบันมีแค่ร้อยละ5จากจำนวนนักเรียนที่สอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและจบออกมาเป็นวิศกรแค่ ร้อยละ 1 เท่านั้น พูดง่ายๆเด็กจบออกมา 100 คน มีคนที่เป็นวิศวกรแค่ ร้อยละ 0.1 จากนี้จะขอให้หน่วยงานสถานศึกษาเร่งลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่าง ๆ แนะแนวให้ความรู้เรื่องการเรียนวิศวกรรมว่าสามารถเป็นอาชีพที่พัฒนาประเทศได้ไม่แพ้อาชีพใดๆในอุดมคติของคนไทย
ด้าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในช่วงหนึ่งของงานเสวนาว่า อาชีพวิศวกรเป็นอาชีพพื้นฐานในการผลักดันประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมกับนานาประเทศ ฉะนั้นการเรียนการสอนจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญต้องปรับตัวเข้ากับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาของบ้านเราคือ มีการปรับตัวที่ค่อน ข้างช้าไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปเร็วมาก ส่วนตัวเห็นว่าทุกสถาบันจำเป็นต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเรียนการสอน ปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้เรียนให้ทันสมัย ตรงกับความต้องการภาคอุตสาหกรรม และการแข่งขันด้านนวัตกรรม เพื่อให้วิศวกรที่จบออกมามีความเชี่ยวชาญ ชำนาญ และทันสมัยปรับเข้ากับโลกยุคดิจิทัลได้
นอกจากนี้ในหลักสูตรการศึกษาก็ต้องมีการปรับให้เด็กที่เรียนวิศวกรรม มีความรู้รอบด้านหลากหลายทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคม ไม่ใช่มุ่งมั่นเฉพาะวิชาที่เรียน เพื่อให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ นำไปใช้ในการนาพัฒนางานที่หลากหลาย และยั่งยืนในอนาคต.-สำนักข่าวไทย