กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – หอการค้าไทยระบุดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จากปัจจัยการเมือง พร้อมระบุหากภายในเดือน พ.ค.การจัดตั้งรัฐบาลไม่ชัดเจน หรือรัฐบาลปริ่มน้ำอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซึมยาว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2562 พบว่าความเชื่อมั่นปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้งที่ส่อเค้าจัดตั้งรัฐบาลไม่ชัดเจน โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เนื่องจากปัจจัยการเมือง และเมื่อมีการสำรวจดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองก็ได้ผลทิศทางเดียวกัน โดยดัชนีลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 58 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 75.6 ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ระดับ 80.5 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคพบว่าเดือนเมษายนเท่ากับ 79.2 ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ 80.6 ดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบัน 53.5 ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ 54.6 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 90.5 ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ 92.0
ทั้งนี้ ปัจจัยความเชื่อมั่นทางการเมืองหลังจากนี้จะเป็นชี้วัดสำคัญ คือ การจัดตั้งรัฐบาลเดือนพฤษภาคม ซึ่งต้องดูว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถประกาศผลเลือกตั้งวันที่ 8 พฤษภาคม เพื่อนำไปสู่การาจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ รวมทั้งเมื่อประกาศผลแล้วจะนำไปสู่การประชุมร่วม 2 สภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีประสบความสำเร็จหรือไม่ ขณะเดียวกันหากมีการตั้งรัฐบาลแล้วในส่วนของสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนที่ได้ของรัฐบาลเป็นเสียงปริ่มน้ำยากต่อการทำงานหรือไม่ ทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2562 หากเดือนมิถุนายนตั้งรัฐบาลเรียบร้อยเศรษฐกิจไทยจะกลับมามีความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่หากไม่เป็นไปตามปัจจัยดังกล่าวเศรษฐกิจจะซึมยาว จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ประชาชนกังวลการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงชุมนุมนอกสภาที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หอการค้าไทยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 แม้จะมีปัจจัยลบทั้งการเมืองและการชุมนุมนอกสภา เศรษฐกิจขยายตัวในช่วงร้อยบะ 3.5-3.8 ส่วนปัจจัยผู้ที่จะมาดำรงนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังเป็นนายกรัฐมนตรี จากปัจจัยทั้งเสียงของพรรคการเมืองปัจจุบัน รวมทั้งเสียงจากวุฒิสภาที่จะสนับสนุน แต่การทำงานหลังจัดตั้งรัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน ยังเป็นปัจจัยที่ยังไดรับการจับตาว่าท้ายที่สุดเสียงสนับสนุนทั้ง 2 สภาจะทำให้รัฐบาลใหม่ทำงานคล่องตัวมากน้อยเพียงใด
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและ 6 เดือนข้างหน้า พบว่าร้อยละ 56.7 ระบุว่าเศรษฐกิจแย่ ร้อยละ 38.4 ระบุว่าเศรษฐกิจขยายตัวระดับปานกลาง และร้อยละ 4.9 เห็นว่าอยู่ในภาวะดี ขณะที่ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยโดยรวมเท่ากับ 66.2 โดยประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยระดับปานกลาง ส่วนปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาวงเงิน 20,000 ล้านบาทนั้น หอการค้าไทยเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 2 โดยเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3.-สำนักข่าวไทย