กรุงเทพฯ 26 เม.ย.-ร้อนจัดหมูโตช้า เกษตรร่วมมือดูแลราคาหมูหน้าเขียงไม่เกิน150บาท/กก. ด้านการลงทุนอีอีซีรุดหน้าทุนจดทะเบียนไตรมาสแรงพุ่งร้อยละ53
ก่อนไปข่าวหมูหมู มาเรื่องน้ำมันก่อน วันนี้ก่อนกลับบ้านไปแวะเติมน้ำมัน เพราะพรุ่งนี้ผู้ค้าประกาศราคาปรับขึ้นทั้งกลุ่มกลุ่มเบนซินและดีเซล 30 สตางค์/ลิตร โดยรวมแล้วหลังเปิดสงกรานต์มานับจาก 19 เมษายนจนถึงพรุ่งนี้ รวม 8 วัน ราคาน้ำมันปรับขึ้น 3 ครั้งรวด รวม1.20 บาท/ลิตร ก็เป็นผลพวงจากราคาตลาดโลกที่พุ่งขึ้น เพราะหวั่นกำลังผลิตน้ำมันจะตึงตัวหลังสหรัฐไม่ผ่อนผันให้ 8 ประเทศหลักนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านที่ถูกคว่ำบาตรทางการค้า ส่วนอีกเรื่องที่ คนรอคอยคือการพิจารณาของศาลปกครองกลางเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งวันนี้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับมติกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางวินิจฉัย จึงทำให้การปรับขึ้นค่าโดยสารดำเนินการต่อไปจากที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ 22 เมษายนที่ผ่านมา
อากาศที่ร้อนไม่ใช่เฉพาะคนที่กระทบ สัตว์เลี้ยง การปลูกพืชกระทบไปหมด มะนาวแพงผลราคาต่ำก็ 7 บาท สุกรหรือหมูก็โตช้า คุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติบอกว่าอากาศร้อนทำให้หมูโตช้าร้อยละ15 เพราะส่วนใหญ่ฟาร์มของไทยเป็นฟาร์มเปิด แปลว่าผลผลิตที่ออกมาก็น้อยลง เกษตรกรต้องมีต้นทุนการเลี้ยงที่ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตามสมาคมก็เห็นด้วยกับกรมการค้าภายในในการคุมราคาขายภาคกลาง/ภาคตะวันออก/ภาคตะวันตก ที่ราคาหน้าเขียงไม่เกิน150 บาท/กก. และราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน75 บาท/กก. โดยในขณะนี้ยอมรับว่าราคาไต่ระดับมาถึง73-74 บาท/กก.
ส่วนในภาคที่ห่างไกลกว่าคือภาคเหนือ ภาคอีสาน เนื่องจากมีค่าขนส่งจึงทำให้ราคาบางช่วงเช่นสงกรานต์ราคาหน้าฟาร์มสูงถึง76 บาท/กก. อย่างไรก็ตามจากปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วง7 เดือนในปีนี้ กระทบการปลูกพืชอาหารสัตว์ อาจส่งผลให้อาหารสัตว์ขยับขึ้นในปีหน้า จึงน่าเป็นห่วงว่าราคาต้นทุนสุกรปีหน้าจะปรับขึ้นมากกว่านี้ ส่วนจะสูงกว่า 75 บาท/กก. หรือไม่นั้นยังระบุไม่ได้ ในขณะเดียวผู้เลี้ยงสุกรได้ร่วมกับภาครัฐระแวดระวังป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในฟาร์มซึ่งในไทยยังไม่เกิดขึ้น แต่มีการระบาดในจีนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกรณีนี้ส่งผลให้ความต้องการเนื้อหมูในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยการระมัดระวังสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ได้ประสานกับทางการ สปป ลาว และกัมพูชา ในการเป็นบัฟเฟอร์ หรือหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเช้ามาในไทย สมาคมลงขันกัน 10 ล้านบาท สนับสนุนภาครัฐตั้งจุดฆ่าเชื้อถาวรตามแนวชายแดน ในพื้นที่ หนองคาย, อรัญประเทศ, มุกดาหาร, นครพนม และเชียงราย
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องควบคุมราคาหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 75 บาท/กิโลกรัม เพราะไม่ต้องการให้พ่อค้าแม่ค้าอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว และอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบเนื้อหมูปรับขึ้นราคาจนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค เพราะหากอาหารดังกล่าวปรับราคาแล้วส่วนใหญ่ก็จะไม่ปรับราคาลดเหมือนกับราคาน้ำมัน ราคาเนื้อหมู และอื่น ๆ ที่สามารถปรับขึ้นและลงตามความต้องการของตลาด สำหรับไทยมีการเลี้ยงสุกร 19-20 ล้านตัว มีปริมาณเนื้อ 1.45-1.49 ล้านตัน ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ 14-15 ล้านตัว ที่เหลือส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ไปดูอีกเรื่องการลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดเผยตัวเลขทีบ่งบอกถึงการค้าการลงทุนว่าขยายตัวได้ดี โดยในไตรมาส 1 ของปีนี้ จำนวนรายที่ขอจัดตั้งบริษัทใหม่มีถึง 2,033 โต+5.01% และหากดูถึงวงเงินทุนจดทะเบียนแล้วมีถึง 5,880 ล้านบาท โตถึงกว่าร้อยละ53 โดยประเภทที่ขยายตัวสูงสุด 3 อันดับ ก็คือ อสังริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และร้านอาหารต่างๆ
ในขณะที่การลงทุนขนาดใหญ่ ก็มีการเสนอประมูลและลุ้นอยู่หลาย โครงการ เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกวงเงินลงทุนราว 2.9 แสนล้านบาท มีผู้ยื่นซอง 3 กลุ่ม หนึ่งในนั้นก็คือ ซีพีเป็นแกนนำที่ควงคู่กลุ่มบีกริม, อิตาเลียนไทยและ ช.การช่าง ซึ่งทางบีกริมมองว่า หากได้เข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ก็จะนำความรู้ด้านธุรกิจไฟฟ้ามาบริหารในสนามบินเชื่อมต่อกับโรงการไฮบริดผลิตไฟฟ้ารอบนอกที่ ทางบีกริมเพาเวอร์ชนะประมูลไปก่อนหน้านี้ โดยทางบีกริมยืนยันการเข้าประมูลทุกโครงการโปร่งใส ไม่มีการอาศัยคอนเนคชั่น หรือสายสัมพันธ์พิเศษแต่อย่างใด
และอีกส่วนหนึ่งที่กลุ่มซีพีเข้าประมูลและเสนอเงื่อนไขชนะคู่แข่งคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ” ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา” วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกฝ่ายรัฐ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เจรจากับกลุ่มซีพีแล้ววานนี้ ที่ถือว่าบรรลุผล โดยนับจากนี้ก็จะมีการเสนอเป็นขั้นตอนเป้าหมายก็ถือจะลงนามในสัญญาได้ประมาณกลางเดือนมิถุนายนนี้
อีก 2 โครงการ ขนาดยักษ์ในอีอีซี ที่ กลุ่ม กัลฟ์ และ กลุ่ม ปตท. จับมือร่วมกันเสนอลงทุน ก็คือโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้บริหารกัลฟ์ มองว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ โดยพื้นที่มาบตาพุดก็จะมีพื้นที่สำหรับการขยายการลงทุนปิโตรเคมี รองรับการผลิตและการแข่งขันของประเทศไทย ในขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะช่วยด้านการส่งออกของประเทศ ที่จะลดต้นทุนได้เพราะสามารถรับเรือขนาดแสนตันเข้ามาจอดเทียบท่าในไทย จากที่ปัจจุบันนี้ท่าเรือระยะที่ 1และ2 รองรับเรือขนาดเป็นหมื่นตันเท่านั้น ซึ่งต้องไปถ่ายเรือ Double Handling ที่สิงคโปร์ ทำให้ต้นทุนสูงค่าขนส่งมีราคาสูง
ส่วนกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม โดยรฟท.จ่ายค่าชดเชยบริษัท โฮปเวลล์ กรณีการบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% /ปี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยต้องจ่ายค่าชดเชยให้เสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่คดีสิ้นสุดลงนั้นวันนี้บอร์ด การรถไฟได้ประชุมและเตรียมเสนอ ครม. 30 เม.ย.นี้ โดย เบื้องต้นสรุปดอกเบี้ยและเงินต้นทั้งหมด พบว่ามีจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายให้กับโฮปเวลล์ 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 13,000 ล้านบาท โดยยืนยันจะขอให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมช่วยจ่ายหนี้ก้อนนี้ด้วย เนื่องจากปัจจุบัน รฟท.มีหนี้สะสมประมาณ 120,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย