ก.แรงงาน 25 ส.ค.-กรมการจัดหางาน ออก พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ควบคุมการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศและจัดระเบียบผู้ประกอบกิจการและป้องกันการลักลอบนำคนต่างด้าวมาทำงานโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งคุ้มครองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎเกณฑ์และมีมาตรฐาน
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศอย่างเหมาะสม และป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งเสริมสร้างการให้ความคุ้มครองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้รับความเป็นธรรมตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ
มีสาระสำคัญกำหนดให้มีการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศได้ 2 กรณี คือ 1.นายจ้างเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องมีการวางเงินประกันกับทางราชการตามอัตราที่กำหนด 2.ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้เป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ซึ่งจะต้องมีการวางเงินประกันการประกอบธุรกิจเป็นเงินไม่น้อยกว่า 5ล้านบาท โดยกระบวนการขั้นตอนการนำคนต่างด้าวมาทำงานต้องเป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด
นายอารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศฉบับนี้กำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบกิจการเรียกค่าตอบแทนซึ่งเป็นค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระทำผิดสัญญาในการนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศสามารถหักเงินจากหลักประกันที่ผู้ประกอบกิจการวางไว้กับอธิบดีกรมการจัดหางานคืนนายจ้างได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการและนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบคนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานในประเทศร่วมกัน โดยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนต่างด้าว นายจ้าง รวมทั้งจัดระเบียบผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยอีกด้วย อีกทั้งยังเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าแรงงานต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อีกเป็นเวลา 60 วัน.-สำนักข่าวไทย