ศาลฎีกา 25 ส.ค.- ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก นพ.สุรพงษ์ 1 ปี อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานไทยคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ขณะที่ ไกรสร และไชยยันต์ จำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา 5 ปี พร้อมปรับคนละ 20,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.00 น. วันนี้ (25 ส.ค.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้พิกษาออกนั่งบัลลังก์ เพื่ออ่านคำพิพากษา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็ฯโจทก์ ฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวง ICT สมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นจำเลยที่ 2 และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวง ICT ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 3 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จากกรณีที่อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยไม่เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตร ขยายศักยภาพในการแข่งขัน ให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียม IP STAR
ทั้งนี้ คำพิพากษาระบุว่า การอนุมัติแก้ไขสัญญาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เป็นการอนุมัติโดยมิชอบ เนื่องจากเป็นการลดทอนความมั่นคง และความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียม ของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรง ที่ต้องมีอำนาจการควบคุมบริหารจัดการอย่างเด็ดขาด และกระทบความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของรัฐ อีกทั้ง เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประธานกรรมการบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ขณะนั้น มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีส่วนได้เสียในการแก้ไขสัญญา อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทผู้รับสัมปทาน
ขณะที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียดว่ารัฐจะได้รับผลกระทบ หรือได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาอย่างไร และเมื่อเสนอเรื่องไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่ลงนามรับทราบโดยไม่ได้สั่งให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนตามที่ปลัดกระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งไว้ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิพากษาจำคุก นพ.สุรพงษ์ เป็นเวลา 1 ปี ขณะที่ นายไกรสร และนายไชยยันต์ จำเลยที่ 2 และ 3 ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่เห็นว่าจำเลยทั้ง 2 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา เป็นเวลา 5 ปี พร้อมอนุญาตให้ประกันตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้นำตัว นพ.สุรพงษ์ ขึ้นรถตู้ เพื่อนำตัวไปคุมขัง ขณะที่ จำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งมีญาติมาฟังคำพิพากษา ต่างโผเข้ากอดกันด้วยความดีใจ เพราะทั้งคู่ได้รับการรอลงอาญา .- สำนักข่าวไทย