กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด สาขาประเทศไทย ผู้รับสัมปทานแหล่งสงขลา ได้แจ้งขอหยุดแท่นผลิตปิโตรเลียมเพิ่ม 1 แท่น จากช่วงปลายปี 2558 หยุดผลิตไปแล้ว 2 แท่น จากแท่นผลิตทั้งหมด 5 แท่น ส่งผลกำลังผลิตแหล่งสงขลาลดลงจากเคยสูงสุด 15,000-16,000 บาร์เรลต่อวัน เหลือ 10,000 บาร์เรลต่อวัน
“แหล่งสงขลาเหลือแท่นผลิต 2 แท่น และมีกำลังการผลิตเพียงพอจะอยู่รอดที่ราคาน้ำมันดิบระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยบริษัท ซีอีซีฯ ได้ส่งออกกำลังการผลิตที่เหลือไปยังต่างประเทศด้วยสัญญาระยะยาว เนื่องจากเป็นน้ำมันดิบที่มีโลหะสูงจึงไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศไทย” อธิบดี ชธ. กล่าว
นอกจากนี้ บริษัท โอเฟียร์ ผู้รับสัมปทานสำรวจแปลง G4/50 ใกล้บัวหลวงและเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ได้แจ้งว่าจะขอคืนแปลงสำรวจดังกล่าว หลังสำรวจเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ไม่พบปริมาณปิโตรเลียมที่คุ้มค่าต่อการลงทุน
สำหรับภาพรวมของประเทศจะมีจำนวนแท่นผลิตปิโตรเลียมลดลงอย่างแน่นอนในอนาคต จากประมาณ400 แท่น เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตกต่ำส่งผลให้การเจาะหลุมผลิตลดลง รวมถึงกรณีที่แหล่งเอราวัณและบงกช แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในอ่าวไทยจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 และจะเริ่มลดกำลังการผลิตตั้งแต่ปี 2561
นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงแหล่งสินภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี-ขอนแก่น ที่มีบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทาน ว่า แหล่งสินภูฮ่อมมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ 70-90 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีแนวโน้มจะรักษากำลังการผลิตได้อีกประมาณ 10 ปี ทาง ชธ. จึงเตรียมหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าจะมีการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตก๊าซฯ ในอนาคตหรือไม่
ด้านแหล่งน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ของบริษัท เอสโซ่ฯ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตก๊าซฯ เฉลี่ย 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และกำลังจะหมดอายุสัมปทานเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง ชธ.อยู่ระหว่างรอว่าเอสโซ่จะขอต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปีตามสิทธิ์ในกฎหมายหรือไม่.-สำนักข่าวไทย