กรุงเทพฯ 27 ต.ค. – เชฟรอนหวั่นปัญหาน้ำมันใช้บนแท่นปิโตรเลียม หารือหน่วยงานรัฐขอความชัดเจน ภาครัฐย้ำต้องเสียภาษีเหมือนน้ำมันบนฝั่ง เตรียมเสนอ ครม.ออกเป็นมติหลักปฏิบัติชัดเจน
หลังการตีความปัญหาภาษีน้ำมันของกรมศุลกากรเมื่อปี 2554 ที่ให้ถือว่าการใช้น้ำมันบนแท่นปิโตรเลียม อยู่นอกราชอาณาจักร เพราะอยู่นอกอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล ส่งผลให้บริษัทได้รับยกเว้น หรือคืนภาษีสรรพสามิต และไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และทางผู้ค้าน้ำมันซึ่งเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันให้บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ขอคืนภาษีน้ำมันรวม 3,000 ล้านบาทนั้น
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การใช้น้ำมันบนแท่นปิโตรเลียมตามกฎหมายปิโตรเลียมไม่ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว โดยสิ่งที่ได้รับการยกเว้นภาษี คือ อุปกรณ์บนแท่น เช่น แท่นขุดเจาะตาม และอื่น ๆ ตามมาตรา 70 (พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 70 ผู้รับสัมปทานและผู้รับจ้างซึ่งได้ทำสัญญาจ้างเหมาโดยตรงกับผู้รับสัมปทานมีสิทธินำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงก่อสร้าง ยานพาหนะ ส่วนประกอบ อุปกรณ์ และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการ ปิโตรเลียมเข้ามาในราชอาณาจักรได้ โดยให้ได้รับยกเว้นการเสียอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร แต่ของดังกล่าวต้องเป็นของที่คณะกรรมการมีคำสั่งเห็นชอบว่าจำเป็นในการประกอบกิจการปิโตรเลียม)
อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนในหลักปฏิบัติทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมศุลกากรได้หารือกันปี 2559 และแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาและจะเสนอ ครม.ขอมติให้ชัดเจนว่าน้ำมันบนแท่นปิโตรเลียม ถือว่าเป็นน้ำมันบนชายฝั่งต้องเสียภาษี ซึ่งก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหาอีก ส่วนเรื่องการขอคืนภาษีน้ำมันตั้งแต่ช่วงปี 2554 เป็นเรื่องที่กรมศุลกากรจะพิจารณา
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุดบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ขอหารือ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เชฟรอน (ไทย) จำกัด หวั่นเรื่องการตีความ จึงยังไม่กล้าที่จะส่งน้ำมันให้ตามปกติ และ ทางบริษัทได้ติดต่อขอซื้อน้ำมันจาก บมจ.ปตท.ให้พร้อมจัดส่งให้ แต่ ปตท.ก็ยังหวั่นเกรงเรื่องความไม่ชัดเจน ซึ่งกรมเชื้อเพลิงฯ จะประสานดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด โดยน้ำมันที่ใช้เป็นน้ำมันดีเซลร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมเอกชนจึงไม่กล้าค้าน้ำมันให้เชฟรอนฯ เพราะหน่วยงานรัฐต่างตีความชัดเจนว่าน้ำมันต้องเสียภาษี เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ค้าน้ำมันสำเร็จรูปก็ต้องสำรองน้ำมันร้อยละ 1 และเมื่อการใช้น้ำมันบนแท่นเป็นการใช้ดีเซลร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ใช้ไบโอดีเซล ดังนั้น ต้องมาขออนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงานในเรื่องการใช้น้ำมันออฟเสป็กต์หรือนอกเหนือกฎหมายกำหนด
นายบุญญฤทธิ์ ศรีอ่อนคง ผู้จัดการฝ่ายองค์กร และรัฐสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เรื่องนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาทางกฎหมาย ซึ่งทางบริษัทพร้อมปฎิบัติตามข้อกฏหมายไทย โดยที่ผ่านมาการขอคืนภาษีดำเนินการตามกฎระเบียบของกรมศุลกากร แต่เมื่อจะเปลี่ยนแปลงอีก ก็คงต้องรอความชัดเจน อย่างไรก็ตาม การจัดส่งน้ำมันให้แท่นปิโตรเลียมในทะเลก็คงหยุดไม่ได้ แต่อยากให้ทางการไทยมีความชัดเจนเร็วที่สุด
ปัจจุบันบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิตประเทศไทย จำกัด มีการใช้น้ำมันดีเซลในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ประมาณ 700,000 ลิตร/วัน (อัตราเฉลี่ยเดือนมกราคม-กันยายน 2559) ซึ่งใช้ในเรือสนับสนุน ได้แก่ เรือขนของและอุปกรณ์ (Supply Vessel) เรือเดินทางสำหรับรับ-ส่งพนักงานไปปฏิบัติงานตาม แท่นหลุมผลิต (Crew Boat), ใช้บนแท่นหลุมผลิต,แท่นขุดเจาะ และเรือกักเก็บน้ำมันดิบ (FSO) เช่น ใช้ในเครนยกของ, ใช้ในเรือสนับสนุนของโครงการใหม่ ๆ หมายเหตุปริมาตรการใช้น้ำมันดีเซลเป็นข้อมูลการใช้เฉลี่ยของเดือนมกราคม-กันยายน 2559. – สำนักข่าวไทย