กรุงเทพฯ 22 พ.ย. – นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังเชื่อมั่นจะประมูลแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” เสร็จสิ้นปี 2560 แม้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่าง พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเสนอ ครม.ในประเด็น นอกเหนือหลักการเดิม แต่หากล่าช้าอาจทำให้ก๊าซฯ เหลือเพียง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากแผนเดิม 1,500-1,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
หลังจาก กมธ.วิสามัญฯ มีมติเห็นชอบให้แก้ไขหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในประเด็นคำจำกัดความของคำว่า “Service Contract” ที่แปลไว้ว่า “จ้างสำรวจและผลิต” เป็น “จ้างบริการ” ซึ่ง กมธ.ฯ เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดและจะเสนอรัฐบาลเพื่อแก้ไข นั้น
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงฯ ยังไม่รับทราบว่า กมธ.มีข้อสรุปในประเด็นทั้งหมดอะไรบ้าง ซึ่งนับเป็นข้อเสนอนอกเหนือหลักการเดิมที่ ครม.ส่งไป ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯ ต้องเสนอมายัง ครม.อีกครั้ง และทางกระทรวงพลังงานก็ต้องเสนอเหตุผลควบคู่ไปด้วย โดย ครม.อาจจะเห็นชอบตามหลักการเดิม หรือ นำข้อเสนอของ กมธ.วิสามัญฯ มาผนวกเพิ่มไปก็ได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ยังไม่ทราบว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพลังงานยังคาดหวังว่าจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว และหาก สนช.พิจารณาเสร็จเดือนธันวาคม 2559 การประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณและบงกช ก็คงจะล่าช้ากว่าแผนเดิมไป2 เดือน หรืออาจจะเปิดประมูลได้ในเดือนพฤษภาคม 2560 จากเดิมเดือนมีนาคมและพิจารณาเสร็จสิ้นว่าใครจะประมูลได้ภายในเดือนตุลาคม 2560
“หากประมูลเสร็จสิ้นปี 2560 ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน คือ ลดกำลังผลิตจากแหล่งเอราวัน-บงกช จาก 2,100 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน เป็น 1,500-1,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จนถึงปี 2579 แต่หากไม่ทันปี 2560 และกรณีเลวร้ายที่สุดปริมาณก๊าซปี 2563-2564 จะลดลงร้อยละ 40-50 และการผลิตปี 2564-2565 จะเหลือแค่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานเป็นห่วงเรื่องความล่าช้า จึงพิจารณาติดตามแผนงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องและปรับแผนให้เหมาะสม โดยล่าสุดทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.เห็นชอบแผนการก่อสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แห่งที่ 2 ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพิ่มเป็น 7.5 ล้านตัน สร้างเสร็จปี 2565 รวมทั้งเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้าแอลเอ็นจีในรูปคลังลอยน้ำ (FSRU) อีก 5 ล้านตัน ขณะเดียวกันอาจจะต้องพิจารณานำเข้าก๊าซฯ จากมาเลเซียและการนำเข้าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งคงจะต้องดูแผนทั้งหมดให้ชัดเจน
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมเรื่องกฎหมายลูก 5 ฉบับ หากร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม การแก้ไขเสร็จสิ้นรองรับการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะเพิ่มเรื่องของระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ระบบรับจ้างผลิต (SC) จากปัจจุบันมีเฉพาะระบบสัมปทานเท่านั้น โดยกฎหมายลูกมีทั้งหมด ได้แก่ แบบคำขอของ PSC และSC, สัญญาการผลิต แบบ PSC และSC และการเก็บค่าภาคหลวงของระบบ PSC
“การวางแผนผลิตก๊าซต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี จึงต้องการประมูลเสร็จสิ้นปี 2560 หากไม่เสร็จเอกชนก็วางแผนผลิตไม่ได้กำลังผลิตก็จะน้อยลง และยิ่งหากรายเดิมก็จะผลิตได้เร็ว แต่หากได้รายใหม่ ก็จะล่าช้าไปอีก 2 ปี และต้องมาเจรจาเรื่องการรื้อถอนแท่นผลิตที่มีกว่า 330 แท่น ว่าจะดำเนินการอย่างไรอีกด้วย ” นายวีระศักดิ์ กล่าว. – สำนักข่าวไทย