กรุงเทพฯ 12 ม.ค. – กมธ.วิสามัญพิจารณา 2 พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเลื่อนเวลาพิจารณารอบที่ 5 ด้านกระทรวงพลังงานเร่งทุกแผนรองรับ ด้านผู้ผลิตไม่มั่นใจต้องลดแผนลงทุน กรมเชื้อเพลิงฯ ให้ ปตท.ศึกษาขยายนำเข้าแอลเอ็นจีเทอร์มินอล 1 เป็น 15 ล้านตัน เหตุหวั่นก๊าซฯ ขาดแคลนกระทบการผลิตไฟฟ้าปี 2564 ย้ำประชาชนทำใจต้นทุนค่าไฟเพิ่ม
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงด้านความมั่นคงพลังงาน หากการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุทั้ง 2 คือ แหล่งเอราวัณ (สิ้นสุดสัมปทานปี 2565) และบงกช (สิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2566) ล่าช้าออกไปอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติปี 2564 ซึ่งมีความต้องการใช้ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐาน หรือคลังรับแอลเอ็นจีที่นำเข้ากับปริมาณการผลิตก๊าซฯ ในประเทศอาจต่ำกว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จึงมอบหมายให้ ปตท.ไปพิจารณาศึกษาเรื่องการลงทุนขยายสถานีนำเข้าแอลเอ็นจีระยะที่ 1 (เทอร์มินอล 1) จากปัจจุบันได้รับอนุมัติก่อสร้างรองรับนำเข้ารวม 11.5 ล้านตัน/ปี ขยายไปเป็น 15 ล้านตัน/ปี ซึ่งโครงการนี้ได้รับอนุมัติทาง ปตท.ได้รับอนุมัติแผนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) เรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี อย่างไรก็ตาม แผนการก่อสร้างต้องรอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นชอบก่อน
“หากต้องพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีตลาดจรขยับตามราคาน้ำมันมาเป็นกว่า 9 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียูแล้ว ในฐานะผู้ปฏิบัติและดูแลก๊าซฯ อยากให้การแก้ไขกฎหมายมีความชัดเจนโดยเร็ว” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กรมฯ ได้เร่งจัดทำกฎหมายลูก 5 ฉบับ เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ….และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ…โดยกฎหมายลูกจะเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยร่างกฎหมายลูกบางฉบับร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น หลักเกณฑ์การคัดเลือกแปลงปิโตรเลียมใดให้เหมาะสมกับการเปิดประมูลในรูปแบบใด ทั้งรูปแบบการให้สัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบรับจ้างผลิต (เอสซี) ซึ่งจะดูทั้งปริมาณสำรองและรูปแบบที่จะจูงใจให้เอกชนยื่นประมูลแข่งขัน โดยหลักเกณฑ์นี้จะครอบคลุมทั้งเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ เตรียมแผนการณ์ไว้รองรับทุกกรณี ซึ่งขณะนี้รับทราบเบื้องต้นว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งมี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน เตรียมเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขยายระยะเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ เป็นครั้งที่ 5 ออกไปอีก 30 วัน เสร็จสิ้นวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ จากเดิมจะเสร็จสิ้นวันที่ 21 มกราคมนี้ โดยกระทรวงสั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งจัดทำรายละเอียดร่างกฎหมายลูก 5 ฉบับรองรับไว้ และเตรียมออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมการประมูลแหล่งสัมปทาน 2 แหล่ง ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น หากการดำเนินการออกประกาศเปิดประมูลมีความล่าช้าอาจจะทำให้กรอบการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลที่จะเสร็จสิ้นเดือนกันยายนนี้ไม่เป็นไปตามแผนเดิม แต่คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ปลายปีนี้ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะรายงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ในการประชุมวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ให้รับทราบถึงความล่าช้าดังกล่าว
“ทางผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งที่จะหมดอายุทั้งเชฟรอนและ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ได้สอบถาม เพื่อขอรับทราบกรอบระยะเวลาการเปิดประมูลที่ชัดเจน ซึ่งขอให้รอทาง สนช. อย่างไรก็ตาม ได้ยืนยันว่าหากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะเปิดประมูลให้เร็วที่สุดไป อย่างไรก็ตามเมื่อยังไม่ชัดเจนทางเอกชนต้องปรับแผนลดวงเงินลงทุน ทำให้ปริมาณผลิตลดลงไปอีก ซึ่งทางกระทรวงฯ ก็ได้วางแผนรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีมารองรับไม่ให้กระทบการผลิตไฟฟ้า ” พล.อ.อนันตพร กล่าว
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สผ. กล่าวว่า จากการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียมล่าช้า ก็กระทบต่อแผนลงทุน บริษัท ปรับลดแผนลงทุนในหลุมผลิตใหม่ ๆ ในแหล่งบงกช เพราะยังมีความเสี่ยงในการรอผลการประมูล แต่พยายามรักษาระดับการผลิตในหลุมผลิตเดิมให้มีอัตราการผลิตยาวนานมากที่สุด ซึ่งการลดการลงทุนในแหล่งบงกช จึงมีผลให้แผนลงทุน 5 ปี (2560-2564) ลดลงจากประมาณการณ์เดิม อย่างไรก็ตาม ยอดขายในช่วง 2-3 ปี ลดลงกว่าเดิมเล็กน้อย ส่วนความชัดเจนการเข้าซื้อกิจการปิโตรเลียมใน 2-3 แหล่ง ทั้งในไทย อ่าวไทย และประเทศเมียนมาร์นั้น ก็ขอยืนยันว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้
ส่วนแหล่งออยด์แซนด์ในแคนนาดา ทางบริษัทปรับแผนลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด และเชื่อมั่นว่าหลังนายโดนัล ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เรียบร้อยแล้ว จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และน่าจะเป็นผลดีต่อราคาและยอดขายปิโตรเลียม.-สำนักข่าวไทย