ทำเนียบรัฐบาล 20 มิ.ย. – ครม.รับทราบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ ย้ำเพื่อประโยชน์ของประเทศ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการรายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….. โดยกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม บัญญัติให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการและต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติละประชาชน
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าที่ผ่านมาการบริหารงานคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและการจัดหาทรัพยากรปิโตรเลียม เพื่อสนองต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศ ซึ่งการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่งเป็นรายได้แผ่นดินประมาณ 1.83 ล้านล้านบาท ส่วนค่าภาคหลังนำไปจัดสรรสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสัดส่วนร้อยละ 60 ส่วนการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการปิโตรเลียมไว้ในกฎหมาย รวมถึงคุณสมบัติว่าต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะด้านในสาขาธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน กฎหมาย หรือสาขาอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการ
สำหรับการทำสัญญาแบ่งปันผลผลิต ประกอบด้วย 3 ระบบ คือ 1.สัมปทานปิโตรเลียม 2.สัญญาแบ่งปันผลผลิต และ 3.สัญญาจ้างบริการ ซึ่งการเลือกใช้ระบบใดจะมีหลักในการพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลศักยภาพของแห่งปิโตรเลียม คำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐจะได้และต้องสามารถจูงใจผู้ลงทุนได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไม่เกิน ร้อยละ 50
ขณะที่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานเกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ ต้องมีความเหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย รวมทั้งรูปแบบของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ต้องพิจารณาด้วยว่าจะเป็นแบบใด ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรมหาชน ดังนั้น จึงจะตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้ง รูปแบบการจัดตั้ง วิธีการ ซึ่งยืนยันว่าจะดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างรวดเร็วและภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้.-สำนักข่าวไทย