กทม. 15 มี.ค. – นายกรัฐมนตรี เบรกการประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินแบบสัญญารายเดียว หลังหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตทีโออาร์ไม่โปร่งใส
นายกรัฐมนตรีเบรกการประมูลดิวตี้ฟรีสนามแบบแบบสัญญารายเดียว หลังหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตทีโออาร์ไม่โปร่งใส โดย ทอท.จะแถลงวันจันทร์นี้ ในขณะที่สัญญาดิวตี้ฟรีคิงเพาเวอร์จะหมดเดือนกันยายนปีนี้
นายกรัฐมนตรีสั่งทบทวนการประมูลดิวตี้ฟรี สนามบิน รูปแบบการประมูลสัญญาแบบรายเดียว โดยผู้ที่ออกมาเปิดเผยคนแรก ก็คือ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบแนวทางการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีอากร หรือ ดิวตี้ฟรี ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ที่ ทอท. เลือกใช้โมเดลเปิดประมูลแบบสัญญาเดียว และรวบสัญญาดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่ง เป็นสัญญาเดียว ซึ่งรัฐบาลได้รับฟังข้อห่วงใยจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการผูกขาด จึงอยากให้คณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย ทอท. และผู้บริหาร ทอท. พิจารณาทบทวนแนวทางการประมูลดังกล่าว โดยคำนึงถึงข้อท้วงติงของสังคมและประโยชน์ที่ ทอท. และประเทศชาติจะได้รับอย่างรอบด้าน
ซึ่งเรื่องนี้ ก็สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ได้ลงประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่ประสงค์ซื้อเอกสารที่กำหนดรายละเอียดการประมูล หรือ TOR สำหรับกิจการดิวตี้ฟรี 2 ประกาศ คือ ให้สิทธิในการประกอบกิจการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพียงรายเดียว มีกำหนด 11 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 ด้วยวิธีการประมูลเสนอค่าตอบแทน และให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ด้วยวิธีการประมูลเสนอค่าตอบแทน โดยจะเปิดขายเอกสารการประมูล ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ถึงวันที่ 1 เมษายน 2562 และจะเปิดชี้แจงรายละเอียดกับเอกชน ในวันที่ 2 เมษายน
ภายหลังจากออกประกาศ ก็มีเสียงคัดค้านกันมากมาย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ทำหนังสือทักท้วงถึง นายกรัฐมนตรี ทวงถามให้ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในการประมูล หนึ่งในเครื่องมือ คือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 จัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และผู้สังเกตการณ์อิสระตัวแทนภาคประชาชน และทีโออาร์การประมูลครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายจากร่วมทุนหรือ PPP อย่างไรก็ตามในวันนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ก็ได้แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรี อย่างยิ่งที่สั่งเบรกการประมูล แสดงว่าฯให้ความสำคัญต่อข้อห่วงใยต่างๆ เช่น การผูกขาด ความโปร่งใสและเป็นธรรม อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป
วันนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกผู้บริหาร ทอท.เข้าพบและให้ชะลอออกประกาศเชิญชวนออกไปก่อน โดยทาง ทอท.จะมีการแถลงรายละเอียดในวันจันทร์นี้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ระบุว่า ทอท.ฟังความเห็นของสังคม ที่ผ่านมาสังคมมีการตั้งคำถาม เช่น ไม่ควรรวมสัญญา 4 สนามบิน แต่ ทอท. ได้พิจารณาข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็พบว่าหากจะแยกสัญญา จะมีบางสนามบินที่มีรายได้น้อย และพื้นที่เล็กเกินไป ไม่คุ้มต่อการแยกสัญญา
ทั้งนี้ รมว.คมนาคม ได้ให้ ทอท.กลับไปดำเนินการให้ครบถ้วนตามข้อกฎหมาย โดยเฉพาะขอให้สอบถามกระทรวงการคลังประเด็นว่าการดำเนินการหาเอกชนลงทุนโครงการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนแก้ไขเพิ่มเติมปี 2562 ซึ่งประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาหรือไม่ เนื่องจากกิจการเกี่ยวกับอากาศยานและกิจการเกี่ยวข้องระบุอยู่ในกฎหมายหลัก หลังจากก่อนหน้านี้ ทอท.วินิจฉัยว่าพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรีเป็นกิจการภายในไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน, นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของทุนผูกขาด โดยหลายภาคส่วนเห็นว่าการดำเนินการโดยเฉพาะดิวตี้ฟรีว่าจะซอยสัญญาออกเป็นหลายสัญญาหรือไม่ รวมถึงการพิจารณาว่า การชะลอออกประกาศเชิญชวนดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับสัญญาของคิงเพาเวอร์กับ ทอท.ในการบริหารดิวตี้ฟรีที่จะหมดสัญญาเดือนกันยายน 2563 หรือไม่ด้วย
ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้แถลงและทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ประมูลดิวตี้ฟรีอย่างรอบคอบ โดยสมาคมฯ ได้มีการนำเสนอถึงข้อดีของการกำหนดเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า เช่น หมวดเครื่องสำอาง หมวดสุรา และบุหรี่ หมวดสินค้าแฟชั่น คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดย สมาคมฯ เห็นด้วยหากทางฝ่ายบริหาร ทอท. จะนำสนามบินภูมิภาคทั้ง 3 แห่ง คือ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินภูเก็ต มารวมกันเป็นสัมปทานเดียวแล้วนำออกมาประมูล ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เพราะมีขนาดเล็ก แต่สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 12,000-15,000 ตารางเมตร และมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ควรกำหนดหลักเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้ามากกว่าการกำหนดให้เป็นสัมปทานแบบรายเดียว .- สำนักข่าวไทย