กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – ไทย-ฮ่องกงปักหมุดหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ลงนาม 4 ฉบับ เพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้น
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างไทยและฮ่องกง โดยรัฐบาลให้การต้อนรับนางแครี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมด้วยคณะภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2562 และใช้โอกาสนี้เปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หรือ Hong Kong Economic and Trade Office (HKETO) ที่กรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่าฮ่องกงเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน จึงให้ความสำคัญเข้ามาเปิดสำนักงาน HKETO ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยในด้านการค้าและการลงทุนในสายตาของผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ และจะส่งผลดีต่อการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา โดยฝ่ายฮ่องกงจะนำคณะผู้แทนการค้าจากภาครัฐและเอกชน เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562 และเชื่อมั่นว่าไม่เพียงการค้าการลงทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ถือว่าทั้ง 2 ประเทศเปิดกว้างที่จะอำนวยความสะดวกทั้งการค้าการลงทุนระหว่างกันอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการหารือร่วมกันเพื่อขยายความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยฮ่องกงจะมองไทยในฐานะ Gateway เข้าสู่อาเซียน และไทยจะใช้ฮ่องกงเป็นประตูเจาะเข้าสู่ตลาดจีนใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง ( AHKIA) ซึ่งเริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2557 กำลังจะมีผลบังคับใช้กลางปี 2562 รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก Greater Bay Area หรือ GBA ที่เป็นเขตเศรษฐกิจเชื่อมฮ่องกง มาเก๊า และเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงในมณฑลกวางตุ้งรวม 11 เมือง เชื่อมฮ่องกงในฐานะ Super Connector กับเส้นทางสายไหม (BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน และสามารถเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนเข้ากับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และมองว่าฮ่องกงจะเป็นเสือติดปีกที่หลายประเทศจะสามารถเพิ่มขยายการค้า การลงทุนเต็มรูปแบบได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมุ่งหวังให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ S-Curve ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจสู่การเน้นวิทยาการและนวัตกรรมและนำพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและธุรกิจบริการ และรัฐบาลยังได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออก – อาเซียน – เอเชียใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและเป็นที่สนใจของนานาประเทศ รวมถึงเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าทั้งแบบดั้งเดิมและการค้าขายออนไลน์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
อย่างไรก็ตาม ปี 2562 ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนและได้ประกาศแนวคิดหลัก คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งบ่งบอกถึงทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนที่ในด้านความยั่งยืน ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคตบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคีภายนอกภูมิภาคและประชาคมโลก ฮ่องกงจึงถือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย
“รัฐบาลไทยให้ความส่าคัญกับการจัดตั้ง HKETO สาขากรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทยและฮ่องกง โดยที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศของไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจัดตั้ง HKETO ให้สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามที่กำหนดไว้ และขอชื่นชมฮ่องกงที่แม้ว่าจะมีพื้นที่ขนาดเล็ก แต่กลับมีความยิ่งใหญ่ในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะด้านการเงินและโลจิสติกส์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกบวกกับความโดดเด่นด้านทำเลที่ตั้งบริเวณปากแม่น้ำจูเจียง ทำให้ฮ่องกงวันนี้กลายเป็นซุปเปอร์คอนเนคเตอร์ที่เชื่อมโยงนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีนแผ่นดินใหญ่กับโลก และจากความสำคัญของฮ่องกงในฐานะเป็นสะพานเชื่อมโยง เศรษฐกิจของภูมิภาคจีนกับทั่วโลก จึงไม่แปลกใจที่ฮ่องกงได้รับการขนานนาม ว่าเป็น “ปากมังกร” ของจีน”นายสมคิด กล่าว
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเดินทางมาครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดกิจกรรมคู่ขนานการสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจไทย – ฮ่องกง โดยได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย 4 ฉบับ ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการพัฒนา Start Up และ การจัดตั้ง Smart City ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนและประสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. Innospace (Thailand) กับ HKTDC 2.Innospace (Thailand) กับ Hong Kong Cyberport 3. Innospace (Thailand) กับ Ho & Partners Architects Engineers & Development Consultants Limited (HPA) และฉบับที่ 4 เป็นการลงนามระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับ HKTDC เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสด้านการลงทุน และการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนในปี 2018 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11 ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 และเป็นนักลงทุนอันดับที่ 5 ของไทย และคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทย-ฮ่องกงในปี 2561 ที่มีอยู่ 12,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 12 และจะมีสัดส่วนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี.-สำนักข่าวไทย