กรุงเทพฯ 30 ม.ค. – สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินทิศทางการส่งออกข้าวไทยปี 2562 มีแนวโน้มลดลง 1 ล้านตัน จากปัญหาเงินบาทแข็งค่า และเวียดนามดั้มราคาขาย คาดว่าจะส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวปีนี้ไม่สดใส เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งร้อยละ 2.28 ขณะที่เงินดองของเวียดนามแข็งค่าเพียงร้อยละ 0.05 ทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง โดยราคาข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ของไทยอยู่ที่ 390-395 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 340 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ถือว่าห่างกันพอสมควร ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนหนักใจอย่างมาก และอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลปัญหาเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป แม้จะทำประกันความเสี่ยงก็ไม่ได้ช่วยมากนัก จึงอยากฝากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลเงินบาทไม่ควรจะแข็งค่ามากจนเกินไป
นอกจากปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าแล้ว ยังเจอปัจจัยด้านอื่นเพิ่มเติมอีก เช่น อินเดียมีมาตรการกระตุ้นการการส่งออก โดยการให้เงินอุดหนุนเป็นแรงจูงใจผู้ส่งออกร้อยละ 5 ทำให้ผู้ส่งออกกำหนดราคาขายต่ำกว่าประเทศอื่น และสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสตอกข้าวมากและมีการระบายข้าวในสตอกเก่า บางส่วนส่งออกไปตลาดแอฟริกาทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในแอฟริกา
ขณะที่ผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญมีนโยบายการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศลดลง เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการนำเข้ามาก นอกจากนี้ กรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) มีการเก็บภาษีนำเข้า 175 ยูโรต่อตัน จากเดิมที่ไม่เคยเก็บ ส่งผลให้กัมพูชาขายข้าวได้ยากขึ้นและหันมาทำตลาดจีนแทนเป็นการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกับไทยเป็นปัจจัยลบสำหรับปีนี้
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกได้เพียง 9.5 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 155,000 ล้านบาท ขณะที่เมื่อเทียบกับปี 2561 ไทยส่งออกข้าวในปริมาณทั้งสิ้น 11.09 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเที่ยบกับปี 2560 แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 8.3 หรือมีมูลค่า 5,619 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในส่วนปริมาณส่งออกข้าวไทยปีนี้ลดลงทั้งข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิไทยรวมกันเกินกว่า 1 ล้านตัน
ทั้งนี้ สาเหตสำคัญมาจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า ขณะที่คู่แข่งทั้งอินเดีย เวีนดนาม มีการปรับตัวได้ดีกว่าไทยมาก เนื่องจากมีการปรับปรุงพันธ์ข้าวและเริ่มมีรสชาติใกล้เคียงกับข้าวไทยหรือบางพันธุ์ข้าวดีกว่าไทย ดังนั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลควรจะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทยให้มีการปรับแผนรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และเห็นว่าภาครัฐจะต้องเปิดกว้างให้โอกาสภาคเอกชนทั้งเกษตรกรชาวนา โรงสีข้าวและผู้ส่งออกข้าวไทยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทยระยะยาวอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย