สำนักข่าวไทย 24 ม.ค.-องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ชี้รัฐควรยอมรับค่าฝุ่น กทม.วิกฤติ ต้องประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม มากกว่าระดมฉีดน้ำ ตรวจควันดำเลี้ยงฝุ่นจนกว่าจะเปลี่ยนฤดู
จากกรณีที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ออกมาเปิดเผยว่าสถานการณ์ค่าฝุ่นของ กทม.ยังไม่วิกฤต เพราะค่าเฉลี่ยทุกพื้นที่ ไม่เกิน 90 โมโครมกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงไม่ประกาศให้ กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ เนื่องจากกังวลเรื่องภาพลักษณ์และให้ระดมฉีดน้ำตรวจควันดำ ทำฝนเทียมแทนนั้น
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ค่าฝุ่นขนาดเล็กที่กรมควบคุมมลพิษหรือหน่วยงานรัฐ รายงานสู่ประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นค่าฝุ่นที่ประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐพยายามที่จะปฏิเสธตลอดว่าสถานการณ์ฝุ่นที่หลายพื้นที่เจอยังไม่วิกฤตทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐานที่เขากำหนด 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรนั้น คือสถานการณ์วิกฤตเพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพซึ่งการนำค่าฝุ่นแต่ละพื้นที่ มาเฉลี่ยกันแล้วบอกว่าไม่เกิน 90 ไมโครกรัมแล้วไม่อันตรายนั้น หลายประเทศไม่นิยมทำเนื่องจากจะดูรายพื้นที่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพราะคำนึงถึงผลกระทบต่อกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วย เพราะมีการเตือนที่ไม่อิงค่า 24 ชั่วโมง หรือค่าเฉลี่ยทุกพื้นที่ แต่อิงค่าเป็นช่วงเวลา
นายธารา กล่าวต่อว่า รัฐควรยอมรับความจริง ว่าสถานการณ์ฝุ่นของไทยน่าเป็นห่วง ใช้แค่บอกว่าเกิดขึ้นทุกปี เดี๋ยวก็หายไป ซึ่งการฉีดน้ำล้างถนน เป็นการแก้ปัญหาผิดจุดเอาทรัพยากรกำลังคนไปลงในสิ่งที่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพียงแค่ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกทางจิตใจ เห็นว่ารัฐบาลได้ทำแล้ว โดยเฉพาะการตรวจควันดำ เมื่อสถานกาณ์ฝุ่นผ่านไปเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป มาตรการเหล่านี้ ก็หายไป
นายธารา กล่าวต่อไปอีกว่า รัฐควรนำงบประมาณเหล่านี้มาใช้ในการ ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาวและประกาศให้พื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขที่ชัดเจน ป้องกันฝุ่นในอนาคต มากกว่าการห่วงภาพลักษณ์ของประเทศอย่างที่รัฐบาลกังวล ซึ่งแนวทางในการแก้ไขที่ควรดำเนินการมากที่สุดคือการมีระบบการแจ้งเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าค่าฝุ่นจะต่ำหรือสูง ประชาชนต้องมีวิธีป้องกันอย่างไร เพื่อให้ได้ตื่นตัว และแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาอย่างที่หลายประเทศทำ เช่น จำกัดควบจำนวนรถยนต์ใน กทม.ให้มีความเหมาะสม ไม่ใช่เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างที่เคยเป็นมา และรถเก่า ควันดำ ควรระงับการใช้งานโดยใช้มาตรการทางภาษีและรถที่จะนำ เข้ามาใหม่จะต้องเป็นเครื่องยนต์ที่มีคุณภาพสูง มีระบบการเผาไหม้ที่ดี และสร้างระบบขนส่งที่เอื้อต่อการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมถึงควรเอาจริงเอาจังในการควบคุมการปล่อยควันเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม สถานกาณ์ฝุ่นของ กทม.ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นพื้นที่แรก แต่ที่ผ่านมามีหลายจังหวัดต้องประสบปัญหากับฝุ่นพิษมาแล้ว เช่น มาบตาพุต จ.ระยอง หรือที่ จ.สมุทรปราการ และอื่นๆ ก็ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตควบคุมมลพิษแล้ว แต่กลับยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะรัฐไม่เอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ .-สำนักข่าวไทย