กรุงเทพฯ 2 ก.ย.-กระทรวงศึกษาธิการประกาศแนวคิดการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงจากระบบแอดมิชชั่นกลับสู่ระบบเอนทรานซ์ ล่าสุดมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเห็นชอบยกเลิกแอดมิชชั่น
หลังมีข้อสรุปให้ยกเลิกระบบแอดมิชชั่นในปีการศึกษา 2561 ให้ใช้ระบบรับตรงกลางร่วมกัน เพื่อลดการวิ่งรอกสอบและความเหลื่อมล้ำ กำหนดให้จัดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT ความถนัดทางวิชาชีพ หรือ PAT และ 9 วิชาสามัญ พร้อมกันในช่วงเวลา 1 เดือนครึ่ง หลังนักเรียนจบชั้น ม.6 ใช้คะแนนยื่นเรียนได้ 4 ที่ มหาวิทยาลัยแจ้งผลกลับส่วนกลางเพื่อเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งเปิดให้ยื่น 2 รอบ
ที่ประชุมอธิการบดีเห็นด้วยเลิกระบบที่ใช้มากว่า 10 ปี แต่มหาวิทยาลัยยังรับตรงได้ โดยใช้คะแนนสอบกลางหรือทำหลังเคลียริ่งเฮาส์ โควตา รับได้โดยใช้ความสามารถด้านดนตรี กีฬา หรือโอลิมปิกวิชาการ จากนี้ราชภัฏ-ราชมงคลจะหาข้อยุติ วันที่ 5 กันยายนนี้ ถ้าเห็นตรงกัน ทปอ. เดินหน้าทำคู่มือการสอบให้แล้วเสร็จเดือนเมษายนปีหน้า และพัฒนาระบบเคลียริ่งเฮาส์
กระแสตอบรับจากนักเรียนและผู้ปกครองผ่านเว็บไซต์เด็กดี ส่วนใหญ่กังวล เพราะเริ่มเร็ว และเด็กเก่งอาจมีสิทธิมากกว่า เพราะสอบรอบเดียว แต่บางส่วนเห็นด้วย เพราะลดค่าใช้จ่าย จากที่เคยวิ่งรอกสอบ 4-6 สนาม มีค่าใช้จ่าย 70,000-200,000 บาทต่อคน ด้านน้องภู นักเรียนชั้น ม.5 ที่ต้องสอบระบบนี้รุ่นแรก กังวลว่าการที่ไม่แจ้งคะแนนสูงต่ำทำให้เดายากว่าจะสอบติดหรือไม่ สอบครั้งเดียวทำให้กดดัน
ด้านนักวิชาการการศึกษามองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่กระทรวงศึกษาและ ทปอ. จะพัฒนาระบบสอบ นำจุดแข็งของ 2 ระบบมารวมกัน เด็ก ม.6 ใช้เวลาในห้องเรียนมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของการสอบ ระบบใหม่จะต่างที่ยื่นได้ 4 ที่ ไม่ใช่ 4 อันดับ เด็กเก่งมีสิทธิเลือกมากกว่า แต่ไม่ลดปัญหากวดวิชา
ย้อนรอยการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยปี 2504-2548 ใช้ระบบเอนทรานซ์ สอบครั้งเดียวเลือก 4-6 อันดับ มาเปลี่ยนเป็นระบบแอดมิชชั่นในปี 2549 ใช้คะแนนเอเน็ต โอเน็ต และเกรดเฉลี่ย ปี 2553 เพิ่มสอบ GAT-PAT แต่เปิด 4 ครั้ง แพทย์สอบ 7 วิชาสามัญ ปี 2556 GAT-PAT สอบ 2 ครั้ง มีระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์ ปี 2558 เพิ่มสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ส่วนระบบสอบปี 2561 ยังต้องรอปรับรายละเอียดที่คาดว่าต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เด็กจะได้รับสูงสุด.-สำนักข่าวไทย