กระทรวงการคลัง 21 ม.ค. – คณะกรรมการ PPP เห็นชอบสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี มูลค่า 235,320 ล้านบาท เปิดทางเอกชนลงทุนระบบโยธาและบริหารการเดินรถ “สมคิด” มั่นใจจีดีพีปี 61 ยังไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 แม้ส่งออกชะลอลงบ้าง
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการโครงการให้เอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่าเงินลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท กำหนดให้อยู่ภายใต้มาตรการ PPP FastTrack รูปแบบ PPP NetCost ภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนตะวันตก ส่วนภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการส่วนตะวันออก
ทั้งนี้ เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงินให้แก่ภาคเอกชน ในส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า และงานเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาของสายสีส้มตลอดทั้งเส้นทาง หวังเชื่อมโยงการเดินทางของกลุ่มผู้โดยสารในเขตที่อยู่อาศัยชานเมือง ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และบรรเทาปัญหาการจราจรแออัดภายในเมือง นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการภายใต้มาตรการ PPP FastTrack ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก มูลค่ารวม 128,235 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในต้นปี 2562
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP เห็นชอบให้โครงการการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ตามเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จึงเห็นชอบให้การเคหะแห่งชาติลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัย มูลค่าโครงการรวม 4,235 ล้านบาท เป็นโครงการขนาดกลาง เพราะมูลค่า 1,000–5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งออกเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่า 19,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 1.72 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวร้อยละ 6.7 ไม่เป็นตามเป้าหมายร้อยละ 8 การขยายตัวระดับดังกล่าวถือว่ายังพอใจ เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว คาดว่าการส่งออกชะลอตัวคงไม่กระทบต่อการขยายตัวของจีดีพีมากนัก ยังคาดว่าจีดีพีปี 2561 ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 เพราะยังมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกหลายตัว ทั้งการลงทุนภาครัฐ และเอกชนหลายโครงการ รวมถึงการส่งเสริมกำลังซื้อในประเทศ ทั้งการท่องเที่ยว การพัฒนาชุมชนให้มีกำลังซื้อในประเทศ เศรษฐกิจในประเทศจึงมีความเข้มแข็งทดแทนการพึ่งการส่งออกชะลอลงได้ หากไม่ได้เริ่มในช่วงที่ผ่านมาป่านนี้มีปัญหาเยอะมากแล้ว จึงมองว่าเศรษฐกิจในประเทศเข้มแข็งรองรับปัญหาจากภายนอกได้ดี ดังนั้น โครงสร้างด้านการส่งออกต้องพัฒนาให้กว้างมากกว่านี้จะได้สร้างพลังต่อการส่งออกเพิ่มเติม แม้กระทรวงพาณิชย์จะตั้งเป้าหมายสูงไว้ถึงร้อยละ 8 เพื่อเป็นเป้าหมายของการทำงานเพื่อสร้างแรงผลักดันในการทำผลงาน .- สำนักข่าวไทย