กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมประกาศทีโออาร์รับซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) 1.5 ล้านตันสิ้นเดือนนี้ หลังคัดเลือก 30 รายมีคุณสมบัติเหมาะสมนำเข้า เงื่อนไขหลักต้องมีราคาส่วนลดต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบสัญญาระยะยาวนำเข้าแอลเอ็นจีสัญญาถูกที่สุดของ ปตท.
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า ใน 1-2 วันนี้ กฟผ.จะประกาศ 30 รายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน/ปี หลังจากมีผู้แสดงความสนใจ 43 รายชื่อ และจะประกาศร่างเงื่อนไขกฎเกณฑ์การประมูล (ทีโออาร์) รับซื้อภายในสิ้นเดือนนี้ หรือช้าสุดกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้เกิดการนำเข้าล็อตแรกเดือนกันยายน 2562 เงื่อนไขหลักของผู้ชนะประมูลจะเป็นไปตามนโยบายของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งผ่านเป็นมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คือ จะต้องกำหนดส่วนลด (Discount ) ให้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญานำเข้าแอลเอ็นจีระยะยาวของประเทศไทยที่เป็นสัญญาราคาต่ำที่สุด โดยปัจจุบันมี 4 สัญญานำเข้าโดย บมจ.ปตท. ทั้งนี้ เพื่อให้ราคาก๊าซต่ำสุดเป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้าของภาคประชาชน ขณะที่ระยะเวลาสัญญาอยู่ที่ประมาณ 4-8 ปี มูลค่ารวมสัญญากว่า 100,000 ล้านบาท
“เงื่อนไข กบง.กำหนดชัดจะต้องมีส่วนลดเมื่อเทียบกับสัญญาระยะยาวที่มากที่สุด ซึ่งสัญญาเหล่านี้เป็นความลับ ดังนั้น เมื่อมีข้อเสนอทาง กฟผ.จะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากพบว่าไม่มีส่วนลดที่ต่ำกว่าก็คงจะต้องยกเลิกการประมูลและจัดแข่งขันประมูลรอบใหม่ แต่จากทิศทางราคาแอลเอ็นจีที่ต่ำในตลาดโลกเชื่อว่าจะได้ผู้ชนะประมูลแน่นอน” นายพัฒนา กล่าว
สำหรับการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน ของ กฟผ.เป็นสัญญาแรกของประเทศในรูปแบบการเปิดให้บุคคลที่ 3 หรือ Third Party Access เข้ามาใช้สถานีนำเข้าแอลเอ็นจี (LNG TERMINAL) สถานีแรกส่วนขยายในสถานีมาบตาพุดของ ปตท. โดยกระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายให้เกิดการแข่งขันการนำเข้าเพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุด จากที่ในอนาคตประเทศไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี ) ฉบับใหม่ 20-25 ล้านตัน/ปี โดยการนำเข้าของ กฟผ.จะต้องมีค่าใช้จ่ายให้กลุ่ม ปตท. เรื่องสถานีแอลเอ็นจีและค่าผ่านท่อก๊าซฯ ซึ่งจะต้องมาผสมกับก๊าซระบบรวม (POOL) และนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อย บางปะกงและพระนครใต้
ส่วนการนำเข้าในระบบ FSRU หรือคลังนำเข้าแอลเอ็นจีแบบลอยน้ำที่ กฟผ.ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ให้นำเข้า 5 ล้านตันภายในปี 2567 นั้น ขณะนี้ได้จัดทำตามแผนงาน อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะขยายช่วงเวลาเริ่มการนำเข้า เพราะจะต้องให้สอดคล้องกับแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่จะเข้าสู่ประชุม กพช.วันที่ 24 มกราคมนี้ ที่แอลเอ็นจีส่วนนี้จะนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าส่วนขยายของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 2,100 เมกะวัตต์ และส่วนขยายพระนครเหนือ 1,400 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะเข้าระบบในอีก 10 ปีข้างหน้า
สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพีดีพีใหม่ ในส่วนที่ กฟผ.จะได้ก่อสร้าง ยังประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะ 600 เมกะวัตต์ น้ำพอง 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 1,400 เมกะวัตต์
“จากราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกต่ำลง ประกอบกับการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณที่ได้ราคาต่ำลงกว่าเดิมอีก 500,000 ล้านบาท นับเป็นผลดีต่อประชาชนที่เชื่อว่าน่าจะได้ค่าไฟฟ้าขายปลีกตามแผนพีดีพี (2561-2580) เฉลี่ย 3.576 บาทต่อปี ต่ำกว่าแผนเดิมที่ 5 บาท/หน่วย” นายพัฒนา กล่าว.-สำนักข่าวไทย