สุรินทร์ 16 ม.ค.-พบงูเห่าตัวเขื่องโผล่วัดสว่างโสภณ ที่เคยมีพิธีสะเดาะเคราะห์ปล่อยงูเห่า-จงอาง 15 ตัว ด้านพระยืนยันว่าเป็นงูตัวสุดท้าย แต่ชาวบ้านยังผวา เพราะไม่แน่ใจว่ามีการปล่อยงูกี่ตัวกันแน่
ความคืบหน้ากรณีมีการสะเดาะเคราะห์ปล่อยงูเห่า และจงอาง 15 ตัวที่วัดสว่างโสภณ ต.ตานี อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ซึ่งมีพระครูสมุห์โบรี ธีรมุนี หรือ “พระอาจารย์โบรี ธีรมุนี” รักษาการเจ้าอาวาสวัดฯ พาลูกศิษย์ 15-20 คนประกอบพิธีตั้งแต่วันที่ 13-14 มกราคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าปล่อยงูไป 15 ตัว จับได้ 12 ตัว ส่วน 1 ตัวถูกชาวบ้านดักจับตีตาย อีก 1 ตัวถูกรถทับตาย และอ้างว่าเหลืออีก 1 ตัวที่ยังลอยนวล
ล่าสุดวันนี้ (16 ม.ค.) ชาวบ้านหนองกระบือ ด้านทิศตะวันออกของวัดดังกล่าว ห่างจากรั้ววัดราว 50 เมตร ได้นำแหไปปิดรูตามโพรงกำแพงดินรอบวัด เพราะเกรงว่าจะมีงูตัวที่ยังไม่ตายออกจากรูหรือโพรงต่างๆ และเช้าวันนี้พบว่ามีงูเห่าสีเผือก ความยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนักราว 1 กิโลกรัมติดอยู่ในแห ในสภาพหมดเรี่ยวแรง โดยนายชัยวัฒน์ รัตกร อายุ 54 ปีเป็นผู้ดักจับได้ จากนั้นจึงได้แจ้งพระปิยะณัฐ ขันติโก รองรักษาการเจ้าอาวาสวัดฯ และพระในวัดออกมาจับงูเอาไปไว้ในวัด
ด้านชาวบ้านบอกว่า เริ่มไม่แน่ใจว่างูที่ถูกปล่อยในพิธีมีจำนวนกี่ตัวและขอให้วัด ออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าปล่อยไปกี่ตัว จับได้กี่ตัว และตายไปกี่ตัว เพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจ แม้จะอ้างว่าเป็นตัวสุดท้ายแต่ชาวบ้านไม่เชื่อ
ขณะเดียวกันในวันนี้ (16 ม.ค.) คณะกรรมการสงฆ์อำเภอปราสาท ได้มีหนังสือสั่งการจากพระครูธำรงสีลคุณ รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอปราสาท แต่งตั้งคณะกรรมการสงฆ์ อำเภอปราสาท 8 รูป นำโดยพระครูสุพัฒนกิจ รองเจ้าคณะอำเภอปราสาท เป็นประธานกรรมการในการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมเรียกพระปิยะณัฐ ขันติโก รองรักษาการเจ้าอาวาสวัด พร้อมพระลูกวัด รวมถึงผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านหนองกระบือร่วมประชุม โดยขาดเพียงพระครูสมุห์โบรี ธีรมุนี หรือ “พระอาจารย์โบรี ธีรมุนี” รักษาการเจ้าอาวาสวัด ซึ่งเป็นชาวกัมพูชา ที่เดินทางออกจากวัดไปเยี่ยมครอบครัวที่กัมพูชา
โดยแนวทางการสอบสวนของคณะกรรมการสงฆ์ฯ จะตรวจสอบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และมีการปล่อยงูไปกี่ตัว ซึ่งพระปิยะณัฐ ยอมรับว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นจริงและทำเป็นครั้งแรก ขณะที่ชาวบ้าน ยืนยันว่าเห็นงูเห่าและตีงูเห่าตายในหมู่บ้านจริง
ทั้งนี้ คณะกรรมการสงฆ์ฯ ได้ชี้แจงว่าการปล่อยงูจงอาง เป็นความผิดตามกฎหมาย และอาจเกิดอันตรายต่อชาวบ้าน หากเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย วัดจะต้องรับผิดชอบ และขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว เพราะไม่ใช่กิจของสฆ์ พร้อมขอให้ชาวบ้านและพระดูแลวัดให้ดี จนกว่าจะมีเจ้าอาวาสตัวจริง.-สำนักข่าวไทย