กรุงเทพฯ 11ม.ค.- นักการเมืองหนุนสร้างหลักประกันสุขภาพให้เท่าเทียมทั้งคุณภาพและบริการ แต่ห่วงงบประมาณที่จะกระทบการเงินการคลังประเทศ ค้านรวม 3 กองทุน
ในเวทีเสวนามองไปข้างหน้า พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน ที่ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ถ.วิภาวดีรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มี 2 เรื่องที่ซ้อนกันคือระบบหลักประกันสุขภาพ กับหลักประกันสุขภาพในองค์รวม ซึ่งพรรคมองว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพเป็นระบบสวัสดิการสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เรื่องนี้ต้องมองปัญหาระบบการเงินการคลัง เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังมีปัญหาที่สป.สช.กับรัฐบาลจะต้องตกลงกันเรื่องงบประมาณ ซึ่งจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม รวมถึงมาตรฐานบริการและคุณภาพของยาควรจะเท่าเทียมกัน
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคมีมุมมองต่างคือระบบประกันสังคม ที่เสมือนเสียภาษี 2 ต่อ คือเสียเงินสบทบในประกันสังคม และยังต้องเสียภาษีรายได้ จึงควรเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในประกันสังคม ควรที่จะมีสิทธิเลือกว่าจะสมทบและใช้บริการประกันสังคมหรือใช้หลักประกันสุขภาพ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าไม่ควรรีบรวมกองทุน 3 กอง คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และข้าราชการ เพราะไม่แน่ใจว่าคุณภาพของคนในระบบหลักจะดีขึ้น แต่ประเด็นหลักคือต้องหาเงินมาสนับสนุนให้เพียงพอ ส่วนกรณีของโรงพยาบาลเอกชนนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุงนอกเหนือจากการแจ้งราคา
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหลักประกันที่ต้องยึด เพราะเป็นหลักการที่ทำให้ประเทศเดินข้ามพ้นเป็นประเทศที่ออกจากกับดับรายได้ปานกลางได้ ซึ่งหลักการนี้ต้องการให้ประชาชนได้ทุกคน ทำให้ประชาชนมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น และถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยน และในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีควรเพิ่มเรื่องสุขศาลา และหมอครอบครัว
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า มี 4 ประเด็นท้าทายที่ต้องตอบคำถามว่าประชาชนได้รับสิทธิกันทั่วหน้าแล้วหรือยัง และเข้าถึงสิทธิได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะทันตกรรม ซึ่งถามว่าถ้าเข้าบัตรทอง เรามีทันตแทพย์เพียงพอหรือไม่ เมื่อเข้าถึงแล้ว ได้รับการบริการที่ดีเพียงใด และบริการที่ให้ไปมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด ด้วยงบประมาณที่จำกัด จึงคิดว่าเมื่อเอาโจทย์ 4 ข้อนี้มาแปลงเป็นโยบายปรับเปลี่ยน กลไกล เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เชื่อมโยงภาคีทุกภาคส่วน การยกระดับเพื่อให้มั่นใจว่าประสิทธิภาพการให้บริการได้มาตรฐานจริง และหลักประกันสุขภาพที่ดี ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย จึงเสนอแนวนโยบาย “รวยช่วยจน ดีช่วยป่วย” คือคนสุขภาพดีช่วยเหลือคนที่ป่วย คนที่รวยก็ไม่ต้องไปใช้บริการจากหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้การรักษาของคนจนมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงเป็นโจทย์ที่จะปรับ เพื่อทำให้ 3 กองทุนมีเหตุมีผล
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพ ไม่ใช่ นโยบายประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการของรัฐขั้นพื้นฐานที่ให้กับประชาชน แต่ไม่สามารถจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ในขณะนี้ เนื่องจากรัฐสวัสดิการ ทำไม่ง่าย เพราะจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึงร้อยละ 35-50 ซึ่งรัฐต้องมีเงินให้มากพอที่จะดูแลทั้งระบบ โดยสวัสดิการรัฐที่ใช้งบอยู่ขณะนี้ แค่ 15-17% เท่านั้น.
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า 3กองทุน ต้องมีความเท่าเทียมกัน แต่ต้องเพิ่มงบประมาณให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิสภาพ ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้อย่างแท้จริง.- สำนักข่าวไทย