ยุโรปขานรับสินค้าประมงหลังไทยได้ใบเขียว

เบลเยี่ยม 10 ม.ค. –  รองนายกรัฐมนตรียืนยันผู้นำเข้ายุโรปเชื่อมั่นสินค้าประมงไทย มั่นใจส่งผลดีต่อภาพลักษณ์การทำประมงไทยปลอดไอยูยูและการค้ามนุษย์  คาดสะท้อนต่อการนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต


พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้นำเข้าสินค้าประมงไทยในทวีปยุโรปที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม  โดยมีสมาคมผู้นำเข้าสินค้าประมงสหภาพยุโรป (อียู) รายใหญ่เข้าร่วมงาน อาทิ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ประจำสหราชอาณาจักร สมาคมการค้าที่สนับสนุนการค้าอย่างยั่งยืน (AMFORI)  ว่า แม้ในช่วงที่มาประเทศไทยจะมีปัญหาความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และปัญหาการค้ามนุษย์ หรือไอยูยู แต่ต้องถือว่าผู้นำเข้าในกลุ่มประเทศยุโรปยังคงให้ความเชื่อมั่นสินค้าประมงของไทยตลอด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Seafood Task Force ช่วยสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนข้อแนะนำในการดำเนินการต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการที่แก้ไขปัญหาในระยะเวลาอันสั้น  เป็นที่ทราบกันทั่วโลกปัญหาประมงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยสิ่งที่รัฐบาลไทยวางรากฐานแก้ไขปัญหาการทำประมงของประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การประมงอย่างยั่งยืนไว้ได้อย่างสมบูรณ์ทั้งด้านกรอบกฎหมาย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการปฏิรูปการประมงของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ 

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า พระราชกำหนดการประมง 2558 และพระราชกำหนดเรือไทย 2561 เป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาข้อตกลงสากล  ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ UN หรือ FAO ที่จุดมุ่งหมายให้มีการทำการประมงอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบ  ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงและกองเรือประมง ประเด็นที่เคยกังวลและตั้งคำถามเสมอว่าการประมงของประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ Over fishing หรือไม่ ภายใต้ความสามารถควบคุมกองเรือประมงที่ทำการประมงได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ขอให้มั่นใจได้ว่าสภาวะการประมงของประเทศไทยในวันนี้ไม่อยู่ในภาวะนั้นแน่นอน  วันนี้ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยจะดีขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และมีการจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นธรรมให้แก่ชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ นอกจากนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนผ่านโครงการปรับปรุงการทำการประมง หรือ Fisheries Improvement Project : FIP ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาหลายพื้นที่และหลายกลุ่มสัตว์น้ำ  


ส่วนชาวประมงพื้นบ้านเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนประมงชายฝั่ง และส่งเสริมให้เกิดการทำประมงภายใต้ “มาตรฐาน Blue Band” ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการทำการประมงที่ยั่งยืนของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทยในอนาคต วันนี้ประเทศไทยมีระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) ที่มีประสิทธิภาพทั้งการควบคุมเรือไทยและเรือต่างชาติให้เป็นไปตามกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง และมาตรการ PSMA  ภายใต้การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (FMC) ซึ่งทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ใน 22 จังหวัดชายทะเลของไทย และด่านตรวจสัตว์น้ำ 

สำหรับสิ่งที่ผู้นำเข้าให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไทยปราศจากการทำการประมงไอยูยู  ซึ่งสามารถยืนยันได้อย่างมั่นใจว่าวันนี้ระบบตรวจสอบย้อนกลับจนสามารถป้องกันสัตว์น้ำและสินค้าประมงผิดกฎหมายเข้ามาในสายการผลิตของไทย ไม่ว่าวัตถุดิบที่นำเข้าสู่การผลิตจะเป็นวัตถุดิบในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศทุกช่องทาง และประเทศไทยจะดำเนินการพัฒนาเรื่องนี้ไปอย่างต่อเนื่อง นำพาประเทศไทยไปสู่การเป็น IUU-free Thailand เพื่อให้ผู้บริโภคได้มั่นใจว่าสัตว์น้ำที่นำเข้าและส่งออกจากไทย จะไม่ได้มาจากการทำประมงไอยูยู ด้านแรงงานภาคประมงทะเล เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดำเนินการควบคู่กัน เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้แรงงานภาคประมงทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอยู่ภายใต้หลักมนุษยธรรมและความรับผิดชอบ ซึ่งผลจากการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้การรับอนุสัญญา ILO  C188  เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะหลักการที่สำคัญได้มีการดำเนินการอยู่แล้วอย่างครบถ้วน และคาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีการยื่นสัตยาบันอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นวันนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลที่ดีต่อภาพลักษณ์การทำการประมงของไทยให้พ้นจากข้อกล่าวหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือไอยูยู หรือแม้กระทั่งการค้ามนุษย์ให้เป็นที่ประจักษ์กับสายตาชาวโลก โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจต่อผู้นำเข้าและผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อสินค้าประมงของไทยในอนาคต  ซึ่งประเทศไทยจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะเป้าหมายที่แท้จริง คือ การส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเลในทุกระดับ และมุ่งเน้นสร้างบทบาทการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการผลักดันไปสู่เป้าหมายของ SDG โดยการแบ่งปันประสบการณ์และสร้างกลไกความร่วมมือร่วมกัน เพราะความยั่งยืนทางทะเลไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องการประมงอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก พร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบกับประชาคมโลกในการรักษาทรัพยากรทางทะเล และการทำประมงอย่างรับผิดชอบ และยืนยันว่าสินค้าประมงจากไทยจะเป็นสินค้าที่มาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย สนับสนุนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสัตว์น้ำ และมาจากแรงงานที่ได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน และไทยพร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับทุกประเทศในโลกนี้ เพื่อร่วมกันกำจัดปัญหาการทำประมงไอยูยูและปัญหาการค้ามนุษย์ ในภาคประมงให้หมดสิ้นไป และนำไปสู่การประมงของประเทศและโลกไปสู่ความยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรของโลกต่อไปด้วย” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี