กรุงเทพฯ 15 ธ.ค.- ถึงคิวเกษตรกรได้ของขวัญปีใหม่ เงิน ลดค่าครองชีพ ปาล์ม จ่าย 20 ธ.ค.นี้, ยางพาราคาด 28 ธ.ค.นี้ ปลัด ก.เกษตรฯ ชี้เร่งทุกมาตรการใช้ยางฯ ส่งผลราคาพุ่ง 2 บาทต่อกิโลกรัม
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นกการใช้ยางพารา เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ การทำถนน การส่งเสริมการใช้ในอุตสาหกรรม ขณะนี้ส่งผลทำให้ราคายางสูงขึ้นมา 2 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว โดยปลายสัปดาห์นี้ราคาซื้อขายยางแผ่น 46.70 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเมื่อต้นเดือนธันวาคมซึ่งราคาอยู่ที่ 44.70 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมกับเร่งจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพไร่ละ 1,800 บาทไม่เกิน 15 ไร่ เป็นของขวัญปีใหม่ โดยมาตรการนี้ เจ้าของสวนยาง ได้ 1,100 บาท คนกรีดยางได้ 700 บาท
“มาตรการช่วยค่าครองชีพ 1800บาท/ไร่แก่ชาวสวนยาง ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ที่เป็นสวนยางในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องกว่า 1.3 ล้านราย คาดว่า รับเงินช่วยเหลือได้ 28 ธ.ค.นี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่”ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าว
นอกจากนี้ มาตรการทำถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรได้ส่งคู่มือ แบบก่อสร้างและราคากลางให้แก่ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 7,200 แห่งพร้อมสร้างทั่วประเทศ โดยสามารถรับซื้อน้ำยางสดได้จากสหกรณ์ชาวสวนยางโดยตรง ได้ตั้งแต่วันนี้ ในการดำเนินการสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารา 75,002 หมู่บ้าน ซึ่งหากสร้างหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง75,032 กิโลเมตร ใช้งบสะสมของ อปท. กว่า 90,000 ล้านบาท ในโครงการนี้เบื้องต้นจะใช้น้ำยางสดปริมาณ1.44 ล้านตัน หรือคิดเป็นยางข้น 720,000 ตัน มูลค่าน้ำยางสดกว่า 16,000 ล้านบาท
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า มีพื้นที่สวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นเกษตรกรจำนวนมากรัฐควรดูแลด้วย ไม่ใช่แค่เกษตรกรสมาชิก กยท. เท่านั้น ข้อมูลตัวเลขพื้นที่กรีดยางในแต่ละหน่วยงานในเวลานี้ยังไม่ตรงกัน โดยข้อมูล กยท. มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ที่มีเอกสารสิทธิ (บัตรสีเขียว) 1.05 ล้านราย พื้นที่ 14.7 ล้านไร่ เทียบกับข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) 20.1 ล้านไร่ (ข้อมูลวันที่ 21 มีนาคม 61)
ด้านนายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มนํ้ามันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า มาตรการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ซื้อนํ้ามันปาล์มดิบ (CPO) ไปผลิตกระแสไฟฟ้าราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม แล้วให้รับซื้อผลปาล์มให้ที่มีน้ำมันร้อยละ 17 จากเกษตรกรราคา 3.20 บาทต่อกิโลกรัม นับเป็นราคาที่ขาดทุน เพราะอย่างน้อยจะต้องรับซื้อผลปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม ในส่วนมาตรการจ่ายเงินช่วยชาวสวนปาล์ม ไร่ละ 1,500 บาทไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย ทราบว่า จะจ่ายเข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ เป็นเพียงมาตรการที่ช่วยได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น
“เมื่อมาถึงจุดนี้เกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยจังหวัดกระบี่ จะเชิญพลเรือตรี .สมัย ใจอินทร์ เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กรมอู่ทหารเรือ มาให้ความรู้ พร้อมจัดเวทีเสวนาและแถลงข่าวในหัวข้อ “B100 มีประโยชน์อย่างไร ดี-เสียอย่างไร” และจะจัดคาราวานไปในหลายจังหวัดภาคใต้ เพื่อปลุกกระแสให้เกิดการใช้ B100 เป็นพลังงานรถ เพื่อดันราคาผลปาล์ม” นายพันศักดิ์ กล่าว. – สำนักข่าวไทย