สงขลา 10 ธ.ค.-ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า แก้ปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืน ในวันนี้จะพาไปดูสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งมีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ยางแผ่นดิบรมควัน ผลิตเป็นแผ่นยางปูพื้น ซึ่งพัฒนาจนผ่านการรับรองมาตรฐาน มอก. เป็นต้นแบบให้สถาบันเกษตรกร และเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืนในอนาคต
ผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ทั้งของชำร่วย จานรองแก้ว แผ่นยางรองส้นเท้า รองเท้าแตะ รองเท้าบูท และอีกหลายหลายผลิตภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าที่ผลิตขึ้นจากยางพาราของโรงงานแปรรูปยางพาราสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ หรือนิคมฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 2559 จากมติคณะกรรมการสหกรณ์ฯ เพื่อช่วยต่อยอดและแปรรูปวัตถุดิบน้ำยางสดของสมาชิกที่ขายให้สหกรณ์จากสมาชิกทั้งหมดกว่า 3,300 ครัวเรือน ให้มีมูลค่าสูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ และผลิตเป็นสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา
นายกิตติธัช ณ วาโย รองผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ เปิดเผยว่า สหกรณ์ร่วมกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมยางพารา ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นำยางแผ่นดิบรมควันของสหกรณ์ ที่ผลิตจากการรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิก มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อหวังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้สมาชิก โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลและกรมส่งเสริมการเกษตรกว่า 30 ล้านบาท ในการก่อตั้งโรงงาน และติดตั้งเครื่องจักร จนสามารถผลิตสินค้าจากยางพารา โดยเฉพาะแผ่นยางปูพื้น ที่ขณะนี้ได้รับรองมาตรฐาน มอก.จากกระทรวงอุตสาหกรรม สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ทำให้มียอดสั่งซื้อแล้วในเดือนนี้กว่า 700 ตารางเมตร ซึ่งการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ไปจนถึงหลายเท่าตัว และผุ้ผลิตสามารถกำหนดราคาสินค้าเองได้ มากกว่าการส่งเป็นวัตถุดิบไปยังต่างประเทศ
ที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ยังได้รับแนะนำจากการยางแห่งประเทศไทย ในการเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำยางต่อไร่ การลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการแปรรูปยางแผ่นคุณภาพดี และหาช่องทางการตลาด เป็นต้นแบบให้กลุ่มเกษตรกรหลายพื้นที่ โดยสหกรณ์สามารถบริหารจัดการและรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดกว่า 1-2 บาท/กิโลกรัม มีผลประกอบการที่อยู่ในเกณฑ์ดี มีกำไรจากการดำเนินกิจการกว่า 7 ล้านบาท และมีปันผลเฉลี่ยคืนให้สมาชิกทุกปี ปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5
แม้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โรงงานแปรรูปยางพาราของสหกรณ์จะยังไม่สามารถทำกำไรได้ แต่เชื่อว่าหากมีตลาดรองรับสินค้าที่ชัดเจน และมีมาตรการส่งเสิรมการใช้ในหน่วยงานของรัฐ จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ เพิ่มปริมาณการส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยางพารา ช่วยให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้น แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนในอนนาคต.-สำนักข่าวไทย