กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – ก.เกษตรฯ เตรียมเสนอ ครม.ขยายจังหวัดเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา เผยจากการตรวจเยี่ยมภาคตะวันออกเฉียงเหนือชาวนาไม่เคยปลูกข้าวโพด พบว่าทั้งภาคเอกชนและทุกหน่วยงานเข้าไปให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมทำแปลงสาธิต สร้างความมั่นใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการอย่างมาก
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้จะเสนอให้ ครม.รับทราบการเพิ่มพื้นที่จังหวัดเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา 4 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร เลย อำนาจเจริญ และยโสธร จากเดิม 33 จังหวัด รวมเป็น 37 จังหวัด ทั้งนี้ พื้นที่ที่ต้องดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 9 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี โดยเกษตรกรทำนา แต่ไม่เคยปลูกข้าวโพดสลับกับทำนาเหมือนภาคอื่น จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเข้าไปให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทย ซึ่งให้บริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไปแนะนำ จัดทำคู่มือ รวมถึงทำแปลงสาธิตเรียนรู้การปลูกข้าวโพด เช่น อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเกษตรกรเรียนรู้ตั้งแต่การเตรียมแปลง การหยอดเมล็ดพันธุ์ การดูแลแปลง จนกระทั่งเก็บผลผลิต
ขณะนี้หลายจังหวัดเริ่มปลูกแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการทั้ง 12 คนไปติดตามดูแลเกษตรกรในทุกพื้นที่ว่าหยอดเมล็ดข้าวโพดแล้ว อัตราการงอกเป็นอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 1,000 กิโลกรัมตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ วันที่ 6 ธันวาคมนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะประชุมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อกำหนดรายละเอียดการชดเชยตามความเสียหายกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งกำหนดไว้สูงสุดไร่ละ 1,500 บาท ซึ่งในกรมธรรม์ต้องระบุระดับความเสียหายและจำนวนเงินที่ชดเชยให้ชัดเจน ซึ่งเบี้ยประกันภัยพืชผลนั้น รัฐจ่ายให้ 65 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ ยังได้เพิ่มเติมกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติจะได้ค่าชดเชยไร่ละ 1,113 บาท ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งปีนี้ได้รับความร่วมมือจากเอกชนอย่างดีทั้งสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทยในการเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรและสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดในโครงการ โดยให้ราคาตามกลไกตลาด รับประกันไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ที่ความชื้น 14.5 % ขณะนี้มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 750,000 ไร่ มีเป้าหมายจะผลักดันให้ถึง 1 ล้านไร่ เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลพื้นที่เพิ่มพื้นที่ปลูกปีหน้า
นายยงยุทธ ปานสูง กรรมการบริหารบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ กล่าวว่า บริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในสังกัดสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทยได้ส่งเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไปจำหน่ายยังสหกรณ์และร้านสินค้าการเกษตรทุกจังหวัดแล้ว เกษตรกรสามารถเลือกของบริษัทใดก็ได้ตามความพึงพอใจ ซึ่งทางสมาคมไม่ได้กำหนดว่าบริษัทใดจำหน่ายในพื้นที่ใด ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งนี้ เมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐานของสมาคมมีอัตราการงอกร้อยละ 90 ซึ่งสูงกว่าตามที่กฎหมายเมล็ดพันธุ์พืชกำหนดไว้ว่าเมล็ดพันธุ์พืชที่จำหน่ายต้องมีอัตราการงอกร้อยละ 75
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า บริษัทแปซิฟิคจัดทำคู่มือการปลูกข้าวโพดให้แก่เกษตรกรทั้งเป็นหนังสือ วีซีดี และคู่มือออนไลน์ ซึ่งเปิดดูผ่านโทรศัพท์มือถือได้ สิ่งสำคัญเจ้าหน้าที่ผู้เข้าไปให้คำแนะนำเกษตรกรเน้นย้ำ คือ เมื่อไถและย่อยดินแล้ว ควรหยอดเมล็ดทันที ทำให้อัตราการงอกสม่ำเสมอ ปัญหาที่พบ คือ เกษตรกรมักตากดินไว้จนสูญเสียความชื้น ส่งผลถึงอัตราการงอก ยกเว้นดินเหนียวที่ต้องตากดิน ซึ่งรายละเอียดการปลูกในดินแต่ละประเภทระบุไว้ในคู่มือแล้ว นอกจากนี้ การปลูกข้าวโพดในนานั้น สิ่งสำคัญ คือ การทำร่องระบายน้ำทั้งร่องระบายน้ำรอบแปลงและภายในแปลงตลอดหัวถึงท้ายแปลง เพื่อไม่ให้น้ำขัง เนื่องจากข้าวโพดไม่ชอบชื้นแฉะ หากมีน้ำขังแปลงจะทำให้ต้นแคระแกร็น ทั้งนี้ ได้ถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรที่จะเป็นพี่เลี้ยงเกษตรกรร่วมกับภาคเอกชนด้วยเพื่อร่วมกันดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานความคืบหน้าล่าสุดของโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูกาลทำนาว่าจากการสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 33 จังหวัด มี 1,017,998 ไร่ สมัครเรียบร้อย 750,596 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 73.73 ของพื้นที่สำรวจ โดยจังหวัดดำเนินการสมัครร้อยละ 75 – 90 ได้แก่ นครสวรรค์ ตาก เพชรบูรณ์ แพร่ กาฬสินธุ์ พะเยา อุทัยธานี หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี น่าน พิจิตร กำแพงเพชร ชัยนาท และร้อยเอ็ด ส่วนจังหวัดที่สมัครร้อยละ 50 – 74 ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ลำปาง มหาสารคาม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี สุโขทัย เชียงราย หนองคาย และนครราชสีมา สำหรับจังหวัดที่สมัครแล้วร้อยละ 25 – 49 ได้แก่ ลำพูน สระบุรี และนครพนม โดยมีจังหวัดสกลนครดำเนินการสมัครได้น้อยที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 11 ของพื้นที่สำรวจ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งให้อำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรเพื่อให้พื้นที่สมัครได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่.-สำนักข่าวไทย