ก.ศึกษาฯ 28 พ.ย.-มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมเครือข่ายเยาวชน ยื่นจดหมายถึง รมว.ศธ.ยื่น 4 ข้อเสนอปรับเเบบเรียนพลศึกษา-สุขศึกษาป.1-ม.6 หลังพบเนื้อหาไม่ให้ความสำคัญเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ปลูกฝังเเนวคิดชายเป็นใหญ่ ต้นตอปัญหาความรุนเเรงในสังคม
น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำผู้ปกครอง เครือข่ายเยาวชนกว่า 30 คน เดินทางยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อสะท้อนปัญหาตำราเรียน ที่พบเนื้อหาบางส่วนลดทอนความเสมอภาคระหว่างเพศ พร้อมเรียกร้องให้เพิ่มหลักสูตรความเสมอภาคระหว่างเพศ บรรจุในตำราเรียน เช่น เพิ่มกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความรุนเเรงที่เกิดขึ้นกับเด็กเเละเยาวชน โดยมีนายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวเเทนรับจดหมาย
น.ส.อังคณา กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนเเรงในเด็กเเละสตรีรุนเเรงมากขึ้น โดยส่วนใหญ่พบในวัย 5-20 ปี สังเกตได้จากข่าวที่ปรากฎบนหน้าสื่อรวมถึงสถิติที่พบว่ามีความรุนเเรงในครอบครัวและความรุนเเรงทางเพศเพิ่มขึ้น มีการข่มขืนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการทำอนาจาร ซึ่งมองว่าการเเก้ปัญหานอกจากจะมุ่งลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นภายนอกเเล้ว ควรเเก้ปัญหาจากราากที่ปลูกฝังจิตสำนึกนั่นคือการศึกษา เเต่ปัจจุบันยังพบว่าเเบบเรียนวิชาสุขศึกษา พลศึกษาตั้งเเต่ระดับชั้น ป.1-ม.6 มีเนื้อหาบางส่วนที่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีความคิดชายเป็นใหญ่ ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้าหญิงต้องมีหน้าที่ทำงานบ้าน มีบุคลิกที่อ่อนเเอ ขี้วีนเอาเเต่ใจ ในขณะที่บอกว่าผู้ชายเป็นเพศเเข็งเเรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดปัญหาความรุนเเรงในสังคม มูลนิธิจึงขอใช้โอกาสในวันรณรงค์ยุติความรุนเเรงต่อสตรีประจำปี2561 ยื่นข้อเสนอถึง ศธ.ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูเเลหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะช่วยปลูกฝัง เเละเเก้ปัญความรุนเเรงในสังคม
สำหรับข้อเสนอมี 4 ข้อ ดังนี้ ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหลักสูตรเจนเดอร์(Gender) หรือความเสมอภาคระหว่างเพศไปปรับใช้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา , ให้ความสำคัญในการออกแบบหลักสูตรที่ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตนเองและผู้อื่นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และควรพัฒนา ปรับ หรือแก้ไขและยกเลิกหลักสูตรการเรียนรู้การสอนที่มีการกดทับ ตอกย้ำความคิด ความเชื่อในการมองว่าเพศชายเหนือกว่าเพศอื่นๆ
พัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น และบุคลากรต้องมีแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็ก 3 ช่วง คือ เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยรุ่น และวัยรุ่น /เเละผลักดันให้แต่ละสถานศึกษาจัดกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรง ต่อผู้หญิง และเด็กในเดือนพฤศจิกายนของทุกๆปี เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตอกย้ำและสร้างเจตจำนงร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายวีระกุล กล่าวว่า ขอชื่นชมในความห่วงใยของมูลนิธิ ส่วนตัวมองว่าการจัดการศึกษาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าได้รับความห่วงใยเเละสนใจจากสังคม ข้อเสนอทั้งหมดที่ได้รับมาจะนำเรียนต่อ รมว.ศธ. เเต่โดยหลักการเเล้วข้อเสนอต่างๆก็เป็นไปตามนโยบายของกระทรวง ที่จะต้องดูเเลเด็กทั้งกายเเละใจ ปัจจุบันมีมาตรการดูเเลเด็กที่เน้นย้ำในเรื่องดังกล่าวอยู่เเล้ว รวมถึงได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์เเละกระทรวงสาธารณสุข เเละยิ่งหากได้รับความช่วยเหลือจากสังคม ก็ยิ่งจะทำให้ลูกหลานเติบโตอย่างสมบูรณ์เเบบมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย