กรมการแพทย์ 27 พ.ย.-แพทย์เผยอาการขาอยู่ไม่สุข รบกวนการนอน ทำให้นอนไม่หลับ แนะเพื่อควบคุมอาการและคุณภาพการนอนดีขึ้น ควรพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการและค้นหาสาเหตุก่อนให้การรักษา
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขหรือโรค Restless legs syndrome (RLS) เป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีอะไรมาไต่ที่ขา ยุบๆ ยิบ ๆ หรือมีอาการกระตุกของขา ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นเฉพาะเวลากลางคืน ช่วงเวลาก่อนนอนหรือเวลานอน ความรู้สึกจะรุนแรงมากจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าต้องขยับขา ลุกมาถีบขา ลุกขึ้นมาเดิน เพื่อลดอาการ โดยทั่วไปแล้วมักเกิดขึ้นทุกๆ 20-40 วินาที อาการดังกล่าวนับเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ต้องตื่นกลางดึกอยู่บ่อยๆ ความชุกของโรคนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคดังกล่าวไม่แตกต่างกันระหว่างผู้สูงอายุกับคนหนุ่มสาวและมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึงสองเท่าตัว
สาเหตุของการเกิดโรคเกิดจากสารเคมีในสมองที่เรียกว่า โดพามีน ลดน้อยลง ซึ่งเป็นสารเคมีที่ปกติเซลล์ในสมองสร้างขึ้น แต่จะมีความเจ็บป่วยบางอย่างที่ทำให้โดพามีนน้อยลง เช่น โรคพาร์กินสัน หรือป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ที่ได้รับยาที่ทำให้โดพามีนในร่างกายลดลง หรือระบบรักษาสมดุลของธาตุเหล็กในร่างกายผิดปกติเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการขาอยู่ไม่สุขได้
พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินอาการ และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เพื่อตรวจอาการขากระตุกและการถูกปลุกระหว่างการนอนหลับ โดยจะได้รับการประเมินภาวะซีด ภาวะการขาดธาตุเหล็ก การทำงานของไต และระบบประสาท เพื่อหาสาเหตุก่อนเริ่มให้การรักษา ซึ่งในการรักษากลุ่มโรคเหล่านี้ ยาที่ดีที่สุด คือ ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มสารโดพามีนในกระแสเลือด เนื่องจากสามารถลดอาการขากระตุกและการถูกปลุกให้ตื่น และอาจให้ยาเสริมธาตุเหล็กในบางราย จะเห็นได้ว่าเพียงแค่อาการขากระตุกในช่วงเวลานอนส่งผลทำให้การนอนหลับมีปัญหาได้ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองเป็นประจำ อาการขากระตุกหรือขาอยู่ไม่สุขดังกล่าว เป็นอาการที่ไม่อันตราย แต่จะรบกวนชีวิต ทำให้คุณภาพการนอนแย่ลง ทำให้นอนไม่หลับ หากมีอาการควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิต คุณภาพการนอนที่ดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย