ขอนแก่น 26 พ.ย. – เกษตรกรรุ่นใหม่พิสูจน์ตัวเอง พัฒนาที่ดินมรดกพ่อแม่ให้เป็นเกษตรปลอดสารเคมี จากเดิมที่พ่อแม่ต้องเข็นไปขายเองที่ตลาด ให้พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อถึงสวน
นุจิราภรณ์ สีสุนาม อายุ 29 ปี ชาวอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น ดีกรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของไร่สุจิรา ได้รับแรงบันดาลใจทำเกษตรจากรายการหอมแผ่นดิน ที่เคยออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD จึงตัดสินใจพัฒนาที่ดินพ่อแม่ 100 ไร่ ที่เคยปลูกแต่อ้อยและมันสำปะหลังให้เป็นเกษตรปลอดสาร ปลูกพืชหลากหลายชนิดหมุนเวียน
สำหรับแตงโมที่ปลูกไว้ 30 ไร่ ใส่ปุ๋ยชีวภาพ โดยจะใส่ปุ๋ยเคมีช่วงต้นแตกยอดเพื่อให้แตงโมรสชาติดีเท่านั้น เป็นช่วงระยะปลอดภัย จากนั้นจะไม่ใส่อีกเลย ปลูก 60-65 วันก็เก็บขายได้ ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 2 ตัน มีคนมารับซื้อถึงสวน ขายไม่แพง กิโลกรัมละ 4 บาท นุจิราภรณ์บอกว่ายังต้องพัฒนาการปลูกแตงโมให้ลูกโตและเนื้อแน่นกว่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม แตงโมไร่นี้รสชาติหวานกรอบ ทานได้สบายใจ ปลอดสารเคมี
นุจิราภรณ์ เล่าว่า ทำเกษตรปลอดสารทั้ง 100 ไร่ ใส่ปุ๋ยชีวภาพทุกตารางนิ้วปีละครั้ง ปุ๋ยชีวภาพที่ใส่คือ กากชานอ้อย หรือกากหม้อกรองของโรงงานน้ำตาลที่เหลือจากการต้มน้ำตาล การใส่ปุ๋ยชีวภาพลดต้นทุนการผลิตลงมาก คือลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงถึง 3 ใน 4 และยังทำให้ผลผลิตดี นอกจากปลูกแตงโมแล้ว นุจิราภรณ์ ยังปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ฟักทอง ผัก ข้าวโพดฟักสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
นุจิราภรณ์ บอกว่า เคยทำงานในฟาร์มตอนจบใหม่ แต่ตัดสินใจมาทำเกษตรปลอดสารเพราะรายการหอมแผ่นดิน เริ่มทำเมื่อปี 2556 ช่วงแรกกดดันมาก เพราะแม่ถูกชาวบ้านบางคนพูดดูถูกว่าลูกเรียนเก่ง จบสูงทำไมมาทำเกษตร ตนจึงพิสูจน์ตัวเอง จนวันนี้ชาวบ้านต้องมาดูการทำเกษตรของตนเพื่อไปทำตามบ้าง แต่ก่อนแม่ต้องเข็นผลผลิตไปขายในตลาด แต่ตอนนี้อยู่ที่ไร่ก็มีคนมาซื้อ
วิธีการทำตลาดคือ ไปขายเองที่ตลาดก่อน ให้พ่อค้าแม่ค้าเห็นว่าเราขายอะไร ผลผลิตมีคุณภาพอย่างไร จากนั้นจะปากต่อปากตามมาซื้อถึงสวนจนไม่พอขาย ผลผลิตจากไร่ได้รับมาตรฐาน GAP “การปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม” จากกรมวิชาการเกษตร ทั้งแตงโม ข้าวโพด ผัก และข้าว ก่อนหน้านี้เคยส่งขายห้างดัง แต่ข้อจำกัดมาก จึงขายเอง เพราะกระจายผลผลิตได้มากกว่า คนทุกคนได้ทานสินค้าปลอดภัย. – สำนักข่าวไทย